คุณชอบเว็บนี้ระดับใด

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บุคลิกภาพของผู้พูดและการพูดในโอกาสต่างๆ

ผู้พูด  เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดไปยังผู้ฟัง  การเป็นผู้พูดที่ดี  นอกจากจะเรียนรู้ทฤษฎีและหลักการพูดแล้ว  ยังต้องเตรียมความพร้อมของตนเองก่อนการพูดด้วย   ซึ่งในการเตรียมตัวของผู้พูดนั้น (นิพนธ์  ทิพย์ศรีนิมิต.    2544  :  71-79)  ได้กล่าวข้อควรคำนึงถึงในเรื่องของการเตรียมตัวของผู้พูดไว้ดังต่อไปนี้
การใช้อิริยาบถและท่วงท่าที่เหมาะสมประกอบการพูด
อิริยาบถในการพูด  หมายถึง  พฤติกรรมของผู้พูดตั้งแต่ก้าวขึ้นเวที  การปรากฏตัวต่อหน้าผู้ฟัง  การเคลื่อนไหวร่างกาย  การแสดงออกทางสีหน้าแววตา  การใช้มือ  การยืนหรือนั่ง  และรวมถึงอากัปกิริยาอื่นๆ ที่ผู้พูดได้แสดงออก  เพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดความเข้าใจในเรื่องที่พูดยิ่งขึ้น
ความสำคัญของอิริยาบถ
                    1.  ช่วยให้การพูดเป็นธรรมชาติ
   2.  ช่วยเสริมคำพูดให้เด่นขึ้น
   3.  เป็นการดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง
   4.  ช่วยเสริมคำพูดให้เป็นจริงเป็นจัง
   5.  ช่วยสนับสนุนความนึกคิด
   6.  ช่วยผ่อนคลายความเครียด
                  7.  ช่วยสร้างบรรยากาศในการพูดให้เป็นกันเอง
   8.  เสริมสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับผู้ฟัง
   9.  ช่วยให้ผู้พูดปรับตัวเข้ากับบรรยากาศและสถานการณ์ที่พูด
   อิริยาบถที่ผู้พูดควรระวัง  ได้แก่
   1.  การแสดงออกทางสีหน้า
   2.  การใช้สายตา
   3.  การทรงตัว
   4.  การยืน
   5.  การนั่ง
                  6.  การเดิน
   7.  การใช้มือและแขน
   8.  การเคลื่อนไหวศีรษะและไหล่
   9.  การใช้เสียงและน้ำเสียง
   10.  การตื่นเวที
ท่วงท่าในการพูด  การใช้ท่าทางประกอบการพูด หมายถึงสีหน้า การวางท่า อากัปกิริยา และการใช้มือ ทั้งนี้ อาจแสดงด้วยมือเปล่า หรือมีอุปกรณ์ประกอบด้วยก็ได้
สีหน้า  ตามปกติผู้พูดที่มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ย่อมได้เปรียบเสมอ เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจของผู้ฟังตั้งแต่แรกเสมอ แต่ในบางครั้ง ผู้พูดต้องเปลี่ยนความรู้สึกให้เป็นไปตามสาระของการพูดด้วย บางครั้งต้องมีความจริงจัง บางครั้งมีความร่าเริงยินดี บางครั้งมีความโศกเศร้ารันทด หรือบางครั้งมีความไม่พึงพอใจ เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลักของความเป็นธรรมชาติ อย่าพยายามแสร้งตีสีหน้า จะทำให้ผู้ฟังรู้ได้ทันทีว่าผู้พูดไม่มีความจริงใจ และจะขาดความเชื่อถือในตัวผู้พูด
การวางท่า  ท่ายืนที่ดีที่สุดการยืนตรงตามสบาย ไม่ต้องเกร็ง ยืนให้เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าทั้งสองข้าง ปล่อยมือทั้งสอบข้างไว้ข้างลำตัว ไม่ควรยืนพักเท้าข้างใดข้างหนึ่งขณะพูด ไม่ควรเอามือไพล่หลัง หรือกุมไว้ข้างหน้า และไม่ควรเอามือยึดกับไมโครโฟน หรือท้าวแท่นพูดจนร่างโน้มลง ทำให้ขาดความสง่าผ่าเผย
อากัปกิริยา  การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นธรรมชาติเป็นสิ่งปกติของผู้พูดที่ดี ผู้พูดย่อมมีอิสระในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายไปตามอารมณ์ความรู้สึกโดยธรรมชาติได้ การเอียงคอ เอียงตัว การพยักหน้า การส่ายศีรษะ การก้มศีรษะ ยักไหล่ การเดิน ฯลฯ โดยเฉพาะการเดิน การเดินเมื่อจำเป็น ข้อสำคัญ อย่าพยายามหันหลังให้ผู้ฟัง เหล่านี้ล้วนเป็นอากัปกิริยาซึ่งผู้พูดกระทำได้ แม้ไม่มีความหมายใดๆ เพราะเป็นการช่วยให้การพูดดูเป็นธรรมชาติขึ้น อย่างไรก็ตามอากัปกิริยาบางอย่างควรละเว้น กล่าวคือ การล้วง แคะ แกะ เกา หาว โยก ค้อน กะพริบ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่ไม่น่าดู
การใช้มือ โดยปกติการปรากฏตัวต่อที่ชุมนุมชน ควรฝึกปล่อยมืออยู่ข้างลำตัว ผู้พูดที่ฉลาดมักสามารถใช้มือเป็นประโยชน์ต่อการพูดได้เป็นอย่างดี ผู้พูดอาจใช้มือประกอบในการขยายความ เช่น การบอกถึงทิศทาง จำนวน ขนาด รูปร่าง เป็นต้น บางครั้งผู้พูดอาจไม่ต้องการขยายความ แต่เพื่อเป็นการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือความหนักแน่นของคำพูด นอกจากนี้การใช้อุปกรณ์ประกอบการพูด เช่น แผนภูมิ รูปภาพ สิ่งของ ฯลฯ ควรมีขนาดใหญ่ หรือชัดเจนพอที่ทุกคนจะเห็นได้ทั่วถึง การชี้ หรือการยกให้ดูอย่าหักหลังให้ และอย่าให้สิ่งนั้นบังหน้าผู้พูด
ข้อควรระวังในการใช้ท่าทางประกอบการพูด พึงเข้าใจว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องทำท่าแบบเดียวกัน อย่าพยายามทำลายบุคลิกของตนเอง ด้วยการเลียนแบบท่าทางผู้อื่น ควรพูดด้วยความรู้สึกที่จริงใจ พยายามเป็นกันเองกับผู้ฟังและรักษาลีลาที่เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด
บุคลิกภาพในการพูด
ผู้พูดหรือนักพูด เป็นจักรกลสำคัญของการพูด และจะต้องยืนอยู่ต่อหน้าคนเป็นจำนวนมาก ความพร้อมทุกอย่าง รวมถึงบุคลิกภาพที่ดี และใช้เครื่องมือสื่อความหมายได้อย่างยอดเยี่ยม จะทำให้การพูดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้น นักพูดนักสอนธรรมะควรจะพัฒนาบุคลิกภาพ ผู้ที่จะเป็นผู้พูดที่ดีได้จะต้องมีบุคลิกภาพของการพูดดังนี้
 1.  มีความมั่นใจและชั้นเชิงดี คือพูดด้วยความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง และพูดได้เป็นธรรมชาติ
                2.  มีความกระฉับกระเฉงแจ่มใส คือพูดด้วยท่าทีผึ่งผาย มีชีวิตชีวา
 3.  มีความจริงใจและมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง โดยจะแสดงออกทางสีหน้า แววตา ท่าทาง และน้ำเสียง
 4.  มีความกระจ่างในเรื่องที่พูดและปฏิภาณไหวพริบดี สามารถพูดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้
                5.  มีความเป็นธรรม คือพูดโดยปราศจากความลำเอียง
 6.  มีความหนักแน่นและสำรวม
 7.  มีความเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ให้เกียรติผู้ฟังทุกประเภทตามสมควร
 8.  มีความเด็ดเดี่ยวไม่โลเล
 9. มีเอกลักษณ์ในการสื่อสารเป็นของตนเอง
คุณลักษณะทั้ง 9 ประการข้างต้นนี้ เป็นบุคลิกภาพของการเป็นผู้พูดที่ดีซึ่งจะเกิดและพัฒนาขึ้นได้โดยการศึกษาหาความรู้ การตั้งใจหมั่นฝึกฝน มีความใส่ใจ และมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง
ปัญหาเกี่ยวกับการพูดและวิธีแก้ไข
การตื่นเวที  เป็นภาวะทางจิตที่ไม่ปกติ เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลอยู่ภายใน จึงไม่สามารถทำให้ควบคุมจิตใจ และอาการที่แสดงออก ทางร่างกายได้
ระดับของการตื่นเวที แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
1. Audience Tension  เป็นการพูดที่ตื่นเวทีที่เกิดจากความรู้สึกเครียดและตื่นกลัว เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นผลสะท้อนมาจาก ความตั้งใจของผู้พูด ที่มีต่อการพูด
2. Audience Fear   เป็นลักษณะของการตื่นกลัวซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการพูด เพราะในขณะที่พูดผู้พูดจะมีอารมณ์หวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา
3. Audience Panic  เป็นลักษณะการตื่นเวที ที่แสดงออกถึงความหวาดกลัวที่สุดขีดจนสุดจะระงับไว้ได้ เป็นการตื่นเวทีที่รุนแรงมาก จนผู้พูดไม่สามารถ ควบคุมอาการตื่นของตนเองได้ อาการตื่นเช่นนี้จะทำลายบุคลิกภาพของผู้พูดอย่างสิ้นเชิง
สาเหตุของการตื่นเวที มาจากหลายสาเหตุ เช่น
1.  ผู้พูดขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
2.  ผู้พูดมีทัศนคติต่อผู้ฟังที่ผิด
3.  ผู้พูดขาดประสบการณ์การในการพูด
วิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขอาการตื่นเวที มีดังนี้
1.  สร้างความเชื่อมั่นในตนเองโดยการฝึกฝน และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพูด
2.  เตรียมโน้ตสั้นๆ ไว้ช่วยเตือนความจำขณะพูด
3.  สร้างทัศนคติที่ไม่ตื่นกลัวผู้ฟัง
4.  สร้างประสบการณ์ทางการพูด
5.  มีความอดทนในการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ทางการพูด
การออกเสียง  บางคนออกเสียงค่อยไป  บางคนออกเสียงภาษาไทยกลาง (มาตรฐาน) ไม่ชัดเจน  สำเนียงจะออกมาเป็นภาษาถิ่นที่ตนเคยชิน  หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงบกพร่อง  เช่น  ฟันหัก  ลิ้นไก่สั่น  ปากแหว่ง  เป็นต้น  ออกเสียงภาษาไทยผิดเพี้ยนไป  เพราะความนิยมว่าเป็นสิ่งโก้เก๋  เช่น  ออกเสียงภาษาไทยเป็นสำเนียงฝรั่ง  เช่น  ยากส์  มันส์   ฟังแล้วเหมือนพูดใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องตามหลักภาษา  การใช้ถ้อยคำสำนวนให้ถูกต้อง
การพูดในโอกาสต่างๆ
การอยู่ร่วมกันในสังคม  โอกาสที่เราจะพบปะหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นย่อมมีอยู่เสมอๆ  และทุกครั้งที่มีการชุมนุมหรือมีการจัดงาน  มักจะมีรูปแบบการพูดที่เป็นทางการเกิดขึ้น  แต่เนื่องจากการชุมนุมในแต่ละโอกาสมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน  การพูดในแต่ละโอกาสจึงมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน  ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้รับเชิญให้พูด  จึงควรศึกษาหลักการและรูปแบบของการพูดในแต่ละโอกาสให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  ทั้งนี้เพื่อให้การพูดนั้น  ตรงตามวัตถุประสงค์และบรรลุผลตามเป้าหมายของการจัดงานนั้นๆ  การพูดในโอกาสต่างๆ  ให้ได้ผลผู้พูดควรทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดในเรื่องต่อไปนี้
1.  ความหมายและความสำคัญของการพูดในโอกาสต่างๆ
                 การพูดในโอกาสต่างๆ  หมายถึง  การพูดที่จัดตามวาระหรือโอกาสที่เกี่ยวข้องกับงานหรือ  กิจกรรมนั้นๆ  เป็นการพูดที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน  การพูดในลักษณะนี้จะมีจุดมุ่งหมายที่หลากหลาย  เช่น  การพูดเพื่อสร้างสรรค์  การพูดเพื่อเสนอข้อมูล  หรือ  การพูดเพื่อมารยาทอันดีงาม  ฯลฯ
2.  ความสำคัญของการพูดในโอกาสต่างๆ
                ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น  ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรหรือทำงานในตำแหน่งใดก็ตาม  โอกาสที่เราจะพูดคุยกับผู้อื่นหรือพูดคุยกับเพื่อร่วมงานนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา  แต่การพูดในบางโอกาส  เช่น  เมื่อมีการชุมนุมหรืองานพิธี  หากเราได้รับเชิญให้พูด  เราไม่อาจใช้วิธีพูดคุยเหมือนเช่นปกติ  ทั้งนี้เพราะการพูนั้นๆ  เป็นการพูดที่ต้องคำนึงถึงจุดมุงหมายและโอกาสของการพูดด้วย  ตัวอย่างเช่น  การกล่าวคำปราศรัย  การให้โอวาท  การกล่าวอวยพร  การกล่าวต้อนรับผู้มาเยือน  หรือการกล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่  ฯลฯ  การพูดในโอกาสต่างๆ  เหล่านี้ล้วนมีรูปแบบและวิธีการที่ผู้พูดควรศึกษา  ทั้งนี้เพื่อมิให้การพูดนั้นๆเกิดการผิดพลาด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความรู้  ความสามารถ  หรือผู้ที่สังคมยอมรับซึ่งมักจะได้รับเชิญ  ให้พูดในโอกาสต่างๆ  อยู่ประจำ
3.  หลักการพูดในโอกาสต่างๆ
                ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต  เราอาจมีโอกาสได้รับเชิญให้พูดในฐานะผู้มีเกียรติหรือเป็นผู้สำคัญของสังคม  จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พูดจะต้องศึกษาหลักการพูดในโอกาสต่างๆ  เอาไว้  ทังนี้เพื่อให้การพูดนั้นๆ  เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย  อีกทั้งยังเป็นการแสดงมารยาทและเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพในงานอีกด้วย  โดยทั่วๆ ไปแล้วผู้พูดควรศึกษาเกี่ยวกับการพูดในโอกาสต่างๆในเรื่องต่อไปนี้
3.1  หลักทั่วไปในการพูด
                     การพูดในโอกาสต่างๆ  แม้จะมีลักษณะของการพูดที่หลากหลาย  แต่โดยหลักการทั่วๆ  ไปแล้วการพูดในลักษณะนี้ก็มิได้แตกต่างไปจากการพูดในรูปแบบอื่นๆ  มากนักจะมีก็แต่เพียงลักษณะที่เกี่ยวกับโอกาสหรือสถานการณ์ที่จะต้องพูดเท่านั้น  ทินวัฒน์ มฤตพิทักษ์ (2525  :114-115)กล่าวถึงหลักทั่งไปของการพูดในโอกาสต่างๆ  ไว้ดังนี้
            3.1.1   พยายามคิดค้นหาลักษณะเฉพาะของโอกาส  หรืบุคลที่เรากล่าวถึง  ไม่ควรพูดเหมือนกันทุกงาน
                     3.1.2  ควรเริ่มให้น่าสนใจและลงท้ายให้ประทับใจ
                     3.1.3 ควรพูดให้รวบรัดและใช้เวลาไม่มากนัก
        3.1.4  ควรแทรกอารมณ์ขันบ้างตามความเหมาะสม
3.2  ลักษณะเฉพาะของการพูด
                      ประสงค์  รายณ์สุข (25282:159)  กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของการพูด  ในโอกาสต่างๆไว้ดังนี้
       1.  เป็นการพูดสั้นๆประมาณ3-5  นาที
       2.  มีสาระสำคัญเพียงประเด็นเดียว
       3.  สาระที่นำเสนอต้องเป็นเรื่องจริง
       4.  เป็นการพูดที่สนองความประสงค์ของผู้ฟัง
       5.  เป็นการพูดที่มีคุณค่า  น่าฟัง  และน่าประทับใจ
       6.  เป็นการพูดที่ชัดเจน  ไม่ซับซ้อน  เข้าใจง่ายและเห็นภาพพจน์
4.  ข้อความคำนึงเกี่ยวกับการพูด
                เมื่อได้รับเชิญให้พูดในโอกาสใดก็ตามที่ไม่ใช่เป็นงานประจำ  หรือปาฐถาธรรมดาทั่วๆไป  สิ่งที่ผู้พูดควรพิจารณาก่อนถึงเวลาพูด  ได้แก่
1.  จุดมุ่งหมายของการชุมนุม  ผู้พูดต้องวิเคราะห์ถึงความเป็นมาและจุดมุ่งหมายของการชุมนุมนั้นๆ ว่า  
                1.1  จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด
                   1.2  ผู้ฟังเป็นใคร  และชุมนุมในฐานะอะไร
                   1.3  สาระสำคัญของการชุมนุมคือเรื่องใด
               2. ลำดับรายการ  ผู้พูดทราบรายระเอียดต่างๆ  เกี่ยวกับขั้นตอนของการจัดงานนั้นๆว่า
                   2.1  มีรายการอะไรบ้างพูด  และจัดเรียงลำดับไว้อย่างไร
                   2.2  ผู้พูดจะพูดในฐานะ  และกล่าวในนามใคร
                   2.3   เวลาที่กำหนดให้พูดนานเท่าใด
                   2.4  ก่อนหรือหลังการพูดมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษอย่างใดหรือไม่
                3.  สถานการณ์  ผู้พูดควรวิเคราะห์สถานการณ์และของการชุมนุมว่ามีลักษณะเช่นไร  และผู้ฟังมีความรู้สึกอย่างไร  เช่น
                     3.1  ผู้ฟังกำลังให้ความสนใจอยู่กับเรื่องใดเรื่อง  หรือไม่
                      3.2 ผู้ฟังมาฟังด้วยความสมัครใจ  ถูกขอร้อง  หรือถูกบังคับให้มาฟัง
                      3.3  ผู้ฟ้งรู้จักผู้พูดมากน้อยเพียงใด
         การได้เรียนรู้หลักทั่วไป  ลักษณะเฉพาะ  และข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการพูดในโอกาสต่างๆ  จะช่วยให้ผู้พูดได้มีโอกาสเตรียมความพร้อม  หรือมีโอกาสวิเคราะห์สถานการณ์ของการพูดได้อย่างถูกต้อง  ถึงแม้ว่าการพูดในบางโอกาส  ผู้พูดอาจได้รับเชิญให้พูดโดยกะทันหัน  แต่การรู้ซึ่งถึงหลักการทั่วๆ  ไป  ก็น่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่การพูดได้ไม่น้อย  และดีกว่าการพูดโดยไม่มีหลักการ

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพูด

         ก่อนที่จะก้าวมาเป็น นักพูด  ผู้พูดส่วนใหญ่มักจะผ่านขั้นตอนของการฝึกฝนเพื่อพัฒนาตนเองในหลายรูปแบบ  การพูดเป็นการสื่อสารจากตัวผู้พูดไปยังผู้ฟัง เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของตน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น ก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันช่วยให้กิจการต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องมีการพูดจาตอบโต้ติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ เสมอ  การพูดจึงเป็นเครื่องมือของการติดต่อสื่อสารละเป็นบันไดขั้นแรกของการสมาคมและความสำเร็จในชีวิตและมีความสำคัญยิ่งต่อมนุษย์
การพูดมีผู้ให้หลักเกณฑ์สำหรับผู้ฝึกพูดไว้หลายแบบด้วยกัน ซึ่ง จิตรจำนงค์  สุภาพ
(2528:99)  กล่าวถึงสูตรสำเร็จหรือบันได 13  ขั้นสำหรับนักพูด ได้เรียงถ้อยคำไว้อย่างคล้องจองซึ่งจะนำผู้พูดไปสู่ความสำเร็จในการเป็นนักพูดที่ดีมีประสิทธิภาพไว้ดังนี้
                1.  เตรียมให้พร้อม  ก่อนถึงเวลาพูดผู้พูดจะต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆได้ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมเนื้อหาสาระ  การจัดระเบียบความคิด  การสร้างโครงเรื่องในการพูด  การวิเคราะห์ผู้ฟัง  หรือแม้แต่การเตรียมตัวของผู้พูดเอง
                2.  ซ้อมให้ดี  การพูดที่ดีผู้พูดจะต้องเตรียมการซักซ้อมเรื่องที่จะพูดให้เกิดความชำนาญ  มีลำดับขั้นตอนและเป็นธรรมชาติ 
3.  ท่าทีมีสง่า  การมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมจะช่วยให้ภาพของผู้พูดโดดเด่นและเป็นที่น่าเชื่อถือ
4.  กิริยาต้องสุขุม  การแสดงอากัปกิริยาที่สุขุมรอบคอบและการรู้จักควบคุมอารมณ์ขณะพูดจะทำให้มองว่าผู้พูดเป็นคนที่สำรวมและหนักแน่น
5.  ทักที่ประชุมอย่าวกวน  การทักทายผู้ฟังควรเริ่มให้ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน เหมาะกับรูปแบบและโอกาสที่พูด
6.  เริ่มต้นให้โน้มน้าว  ควรเริ่มต้นให้น่าสนใจและเร้าใจผู้ฟังให้อยากติดตาม
7.  เรื่องราวต้องกระชับ  การเสนอเนื้อหาให้กระชับ  ตรงประเด็น  และได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์
8.  ตาจับที่ผู้ฟัง  ขณะที่พูดกวาดสายตาของผู้พูดควรมองไปยังผู้ฟัง  ไม่ควรก้มหน้าแหงนมองเพดาน  หรือมองออกไปข้างนอก
9.  เสียงดังให้พอดี  ควรพูดให้ได้ยินชัดเจน  ไม่ดังหรือเบาจนเกินไป
10.  อย่ามีเอ้ออ้า  หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไร้ความหมาย เช่น  เอ้ออ้า  ฯลฯ
11.  ดูเวลาให้พอครบ  ควรพูดให้ตรงตามกำหนดเวลา
12.  สรุปจบให้จับใจ  จบการพูดให้เป็นที่ประทับใจผู้ฟัง
13.  ไวในปฏิภาณ  มีปฏิภาณในการแก้ปัญหาหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
การได้เรียนรู้สูตรสำเร็จดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  จะช่วยให้ผู้พูดเกิดความรู้ความเข้าใจและ
สามารถนำทักษะต่างๆมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพูดได้เป็นอย่างดีแต่ทั้งนี้ผู้พูดต้องไม่ลืมว่า การพูดให้ได้ผลดีนั้นไม่ใช่เรียนรู้แค่เพียงหลักการแล้วสามารถพูดได้เพราะการพูดที่ดีและได้ผลยังต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์ควบคู่กันไปอีกด้วย
หลักการใช้เสียง  ความชัดเจนถูกต้อง
เสียงพูดเป็นสิ่งสำคัญในการพูดเป็นอย่างยิ่ง  นักพูดบางคนที่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะไม่รู้จักใช้เสียงในการพูด  ทั้งๆ ที่มีความรู้ดีแต่พูดแล้วไม่ชวนให้ผู้ฟังสนใจ  เสียงพูดที่ดีอาจจูงใจผู้ฟังให้สนใจฟัง  และเห็นคล้อยตามได้ดีมาก  สิ่งที่ควรทราบในการใช้เสียงพูดมีดังนี้
1.  ลักษณะเสียง
     เสียงที่ดี  คือ  เสียงทุ้ม  นุ่มนวล  ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป
     เสียงสูง  ทำให้ผู้ฟังเคร่งเครียด  และเบื่อหน่ายได้ง่าย
     เสียงต่ำ  ทำให้ผู้ฟังง่วงเหงาเศร้าซึม  ไม่สนใจในการพูด
2.  จังหวะพูด
     การพูดต้องมีจังหวะชัดเจน  ชัดถ้อยชัดคำ  ไม่พูดเร็วหรือรัวเกินไป  และไม่ช้าเกินไปจนยานคาง  การพูดในที่สาธารณะต้องใช้จังหวะที่ช้ากว่าการสนทนากันเล็กน้อย  การพูดเร็วเกินไปผู้ฟังจะฟังไม่ทันแล้วเกิดการไม่สนใจขึ้น  ส่วนการพูดช้าผู้ฟังก็จะเบื่อและไม่สนใจเช่นเดียวกัน  ตามปกติอัตราการพูดที่เหมาะสม  คือ  การพูดในอัตรา 120 180 คำต่อนาที
3.  ลีลาการพูด
                   ผู้พูดที่ดีจะต้องรู้จักเปลี่ยนระดับหรือจังหวะของเสียง  ในจุดที่ต้องการเน้น  หรือการเรียกร้องความสนใจ  ซึ่งอาจทำได้โดยพูดให้ดังหรือเบากว่าปกติ  พูดให้ช้าลงหรือหยุด  หรือพูดซ้ำหรือย้ำ  การเปลี่ยนลีลาการพูด  มีข้อควรระวังดังนี้
     3.1  เน้นให้ตรงจุดที่ควรเน้น
     3.2  มีจังหวะในการเน้น  คือ  ไม่เน้นตลอดไป  เพราะการเน้นอยู่ตลอดเวลาจะไม่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่าตอนใดสำคัญกว่ากัน
4.  เสียงชัดเจน
     ผู้พูดจะต้องออกเสียงคำทุกคำให้ชัดเจนตามลักษณะของภาษาทั่วๆ ไป  เช่นตัวควบกล้ำ  หรืออกเสียงคำที่มีเสียง /ร/ และ /ล/ จะต้องชัดเจน  คำที่ออกเสียงประวิสรรชนีย์  บางคำออกเสียงเน้นหนักขนาดไหนต้องออกให้ถูก เช่น  สบาย  จะต้องออกเสียง /สะ/ เพียงครึ่งเสียง  ถ้าออกเสียงเต็มคำจะผิดลักษณะออกเสียงภาษาไทย
5.  ออกเสียงให้เต็มคำ
        การพูดที่ดีไม่ควรใช้คำย่อ หรือคำตัดพยางค์  เช่น  กิโลกรัม  ก็ไม่ควรใช้คำว่า โล  หรือวิทยาลัย เป็น วิทชาลัย เป็นต้น
   ข้อบกพร่องทั่วไปของการใช้น้ำเสียง
   1.  เสียงเบาเกินไป
   2.  พูดช้า หรือเร็วเกินไป
   3.  พูดอึกอัก เอ้ออ้า น่ารำคาญ
   4.  พูดด้วยท่วงทำนองเหมือนอ่านหนังสือ หรือท่องจำ
   5.  พูดราบเรียบระดับเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ
การเลือกเรื่องที่จะพูด
การเลือกเรื่องพูด  ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการพูด  เรื่องที่ดีควรมีประเด็นที่เด่นชัดและมีขอบข่ายของเนื้อหาที่เหมาะกับเวลาที่ใช้พูด  ผู้พูดที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่  มักจะเลือกเรื่องพูดโดยพิจารณาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
 นิพนธ์  ทิพย์ศรีนิมิต  (2542 : 110-111)  กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกเรื่องที่จะพูดไว้   ดังนี้
1.  กรณีที่เลือกเรื่องเอง  ควรเลือกเรื่องที่เราอยากพูด  รู้เรื่องดี  มีความถนัด  และมีประสบการณ์
2.  กรณีที่มีผู้กำหนดเรื่องมาให้  ควรศึกษาจุดประสงค์ในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน  เพื่อสำรวจว่าเรามีความรู้พอที่จะรับผิดชอบพูดเรื่องนั้นได้หรือไม่
3.  เลือกเรื่องให้เหมาะแก่โอกาส  เหมาะกับกาลเทศะและจุดมุ่งหมายของการพูด
4.  เลือกเรื่องที่มีความเหมาะสมกับผู้ฟัง  โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศ  วัย  การศึกษา  อาชีพ  และจำนวนของผู้ฟัง
5.  เลือกเรื่องที่ผู้ฟังสนใจ  หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง  หรือควรค่าแก่การฟัง
6.  เลือกเรื่องที่มีแนวทางและขอบข่ายที่เด่นชัด  เช่น  เป็นเรื่องที่พูดทั่วๆ ไป  หรือเป็นเรื่องที่ต้องพูดในแนวลึก
7.  เลือกเรื่องที่สามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูล  และจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ประกอบการพูดได้ไม่ยากนัก
8.  เลือกเรื่องที่เหมาะกับสถานการณ์และช่วงเวลาที่ใช้พูด
จากที่กล่าวมา  จะเห็นได้ว่าการเลือกเรื่องที่จะพูดนั้น  ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ในการเลือกอย่างมาก  และยังต้องคำนึงถึงคุณสมบัติทั้งผู้ฟังและผู้พูดเองด้วย  ซึ่งจะทำให้การเลือกเรื่องที่จะพูดนั้นประสบความสำเร็จเร็วขึ้น  อีกประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับการพูด  ก็คือ  การเตรียมการพูด
       นิพนธ์  ทิพย์ศรีนิมิต  (2544 : 109-136)  กล่าวว่า  การเตรียมการพูด  นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักพูด  การเตรียมการพูดที่ดี  นอกจากจะทำให้ผู้พูดเกิดความมั่นใจในตนเองแล้ว  ยังช่วยให้การพูดนั้นๆสามารถดำเนินไปตามแผนที่กำหนดไว้  ดังนั้นผู้พูดที่ดีจึงควรเตรียมการพูดในวิธีต่อไปนี้
การเตรียมเรื่องที่จะพูด
เมื่อสามารถเลือกเรื่องที่จะพูดแล้ว  ขั้นตอนต่อไปที่ผู้พูดจะต้องเตรียมการก็คือ การเตรียมเรื่องพูดหรือการเตรียมเนื้อเรื่อง  การเตรียมเรื่องพูดเป็นการกำหนดแผนในการพูดว่า  เราจะพูดอะไรพูดอย่างไร  เริ่มพูดเมื่อไหร่  พูดนานแค่ไหน  พูดกับใคร  และใช้รูปแบบการพูดแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด  ผู้พูดที่ดีควรเตรียมเรื่องพูดไว้ล่วงหน้า  เพราะจะช่วยให้พูดได้ตรงประเด็นและเป็นไปตามความมุ่งหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พูดที่ฝึกการพูดใหม่ๆควรคำนึงถึงเรื่องให้มากเป็นพิเศษการเตรียมเรื่องพูดมีลำดับขั้นตอนการเตรียมการดังนี้
  1.  ขั้นเริ่มคิด เมื่อตกลงว่าจะพูดเรื่องใดแล้ว  ก็ให้พิจารณาถึงสาระของเรื่องที่จะพูดว่าจะพูดในประเด็นใดบ้าง  ประเด็นต่างๆ เหล่านี้อาจรวบรวมจากประสบการณ์  จากการศึกษาค้นคว้า  หรืออาจสอบถามจากผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จะทำให้ได้หัวข้อเรื่องหรือประเด็นที่น่าสนใจมากขึ้น
   2.  ขั้นพิจารณาข้อมูล  นำประเด็นหรือหัวข้อเรื่องที่รวบรวมไว้มาพิจารณาถึงความเหมาะสม  เช่น  ประเด็นที่ไม่ค่อยตรงกันเนื้อหาก็ตัดออก  หรือเรื่องใดที่มีลักษณะที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันก็จัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน  หรือยุบรวมเป็นหัวข้อเดียวกัน
   3.  ขั้นเขียนโครงเรื่อง  เป็นการจัดลำดับเนื้อหาที่จะพูด  โดยนำประเด็นหรือหัวข้อเรื่องที่ได้เลือกไว้แล้ว  มาจัดเรียงลำดับการพูดก่อนหลังตามความเหมาะสมการวางโครงเรื่องที่จะพูดเป็นสิ่งจำเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้พูดจะต้องเตรียมการ  ทั้งนี้เพราะโครงเรื่องเปรียบเสมือนเส้นทางเดินหรือเส้นแกนร้อยของการพูดซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้พูดหลายประการดังนี้
        1.  ช่วยให้ผู้พูดได้มีโอกาสคิดและไตร่ตรองก่อนการพูด
        2.  ช่วยให้ผู้พูดทราบขอบข่ายและขั้นตอนของเรื่องที่จะพูด
        3.  ช่วยให้ผู้พูดพูดเนื้อหาได้ตามลำดับโดยไม่สับสน
        4.  ช่วยให้ผู้พูดพูดได้ตรงประเด็นและอยู่ในขอบข่ายของเรื่องที่พูด
                      5.  ช่วยให้ผู้พูดเลือกเน้นเนื้อหาบางตอนได้เหมาะแก่เวลา
การเตรียมขั้นตอนการพูด
            เมื่อผู้พูดเลือกเรื่อง  วางโครงเรื่อง  จัดหาข้อมูลและทำร่างบทพูดโดยคร่าวๆแล้ว  ขั้นตอนที่ผู้พูดต้องดำเนินการต่อไปก็คือ การเตรียมขั้นตอนการพูด  การเตรียมขั้นตอนการพูด  หรือการจัดหาเนื้อเรื่องเป็นการลำดับความให้เนื้อความต่อเนื่องกันอย่างมีระเบียบ  ซึ่งในทางการพูดจะมีการจัดเรียงขั้นตอน  ดังนี้

ประเภทของการพูด

การเป็นนักพูดที่ดีนั้น  นอกจากจะคำนึงถึงความรู้พื้นฐานของการพูดแล้ว  ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับประเภทของการพูดประกอบด้วย  ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวจะช่วยให้ผู้พูดเข้าใจถึงลักษณะของการพูด  สามารถกำหนดจุดมุ่งหมาย  รวมทั้งสามารถเลือกใช้วิธีการพูดได้อย่างเหมาะสม  ประเภทของการพูด  แบ่งได้ 4 ลักษณะ  ดังนี้
1.   แบ่งตามลักษณะการพูด
2.   แบ่งตามโอกาสการพูด
3.   แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการพูด
4.   แบ่งตามวิธีการพูด
แบ่งตามลักษณะการพูด
การพูดแบ่งตามลักษณะได้  2  ลักษณะ  ดังนี้
1.  การพูดเดี่ยว
การพูดเดี่ยว  หมายถึง  การพูดที่มีผู้พูดเพียงคนเดียว  อาจพูดในห้องเรียน  ในที่ประชุมหรือในที่ชุมชนก็ได้  สำหรับเรื่องที่จะนำมาพูดอาจได้มาจากเหตุการณ์หรือประสบการณ์ของตนเองจากเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา  จากการอ่าน  จากการศึกษาค้นคว้าจากการซักถาม หรือจากสิ่งที่มีผู้เล่าให้ฟัง  เป็นต้น การพูดเดี่ยวที่นิยมกันอยู่ในสังคมปัจจุบันมีหลายประเภท  ซึ่งแต่ละประเภทก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป  เช่น  การพูดบรรยาย หรือปาฐกถา การกล่าวรายงาน  การกล่าวคำปราศรัย  การพูดให้โอวาท การพูดในฐานะโฆษก  หรือพิธีกร  หรือการพูดวิจารณ์  เป็นต้น
                                จุดมุ่งหมาย  การพูดเดี่ยวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังได้รับความรู้ความเพลิดเพลินหรือเพื่อเผยแพร่วิทยาการใหม่ๆที่ก้าวหน้า
2.  การพูดกลุ่ม
การพูดกลุ่ม  หมายถึง  การพูดที่มีผู้พูดหลายๆคนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่พูด  ในการพูดกลุ่มผู้พูดส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์และมีความเชียวชาญในการพูดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดร่วมกับผู้อื่นหรือการพูดเป็นทีม  ซึ่งต้องอาศัยหลักจิตวิทยาและมนุษย์สัมพันธ์เป็นส่วนประกอบการูดกลุ่มซึ่งเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน  ได้แก่  การสนทนา  การสัมภาษณ์  การอภิปรายการประชุมหรือการโต้วาที  เป็นต้น
จุดมุ่งหมาย  การพูดกลุ่มมีจุดมุ่งหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  ความคิดเห็นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา  หรืหาแนวทางปฏิบัติ
แบ่งตามโอกาสพูด
การพูดมีหลายโอกาส  แต่สามารถจัดโอกาสของการพูดได้ 2 ประเภท  ดังนี้
1.  การพูดอย่างเป็นทางการ
การพูดอย่างเป็นทางการ  หมายถึง  การพูดที่เป็นกิจจะลักษณะและเป็นพิธีการผู้พูดต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การพูด  เช่น  การปาฐกถา  การบรรยาย การอภิปราย  การสัมภาษณ์  หรือการประชุม  เป็นต้น  การพูดอย่างเป็นทางการอาจมีทั้งพูดเดี่ยวและพูดกลุ่ม  ซึ่งมีจำนวนผู้ฟังตั้งแต่กลุ่มย่อยๆไปจนถึงการพูดในที่ชุมชน  ดังนั้นการพูดในลักษณะนี้ผู้พูดจะต้องรู้จักหลักการในการพูด  เพื่อการแสดงออกที่เหมาะสม      
หลักการพูดอย่างเป็นทางการ
1.ขั้นวิเคราะห์   ผู้พูดต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้ฟัง  โอกาส  เวลาและสถานที่ก่อนการพุด วิเคราะห์ผู้ฟังเกี่ยวกับ  เพศ การศึกษา  อาชีพ  จำนวน  หรือสิ่งที่ผู้ฟังสนใจ  รวมทั้งต้องพิจารณาถึงโอกาสที่พูดว่าได้รับเชิญให้ไปพุดในโอกาสใด  ช่วงเวลาใด  หรือไปพูด  ณ  สถานที่ใด เป็นต้น
                2 .การเตรียมเนื้อหา  การพูดทุกครั้ง  ผู้พูดจำเป็นต้องคิดเตรียมเนื้อหา  เพื่อให้การพูด นั้นๆเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น               
3. การเตรียมด้านภาษา  การพูดต้องใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาประกอบกัน  ซึ่งมีแนวทางการใช้ดังนี้
3.1   การใช้วัจนภาษา  ผู้พูดควรต้องถ้อยคำที่สั้นและตรงตามความ  มีชีวิตชีวา
เหมาะกับผู้ฟัง  สาระและโอกาส  มีความสุภาพเป็นกันเองและเหมาะกับบุคลิกของผู้พูด
3.2   การใช้อวัจนภาษา  ผู้พูดควรต้องกวาดสายตามองผู้ฟังให้ทั่วถึงรู้จักใช้เสียงและแสดงสีหน้าให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่พูด  มีท่าทางประกอบการพูดพอเหมาะ  คำนึงถึงเวลาที่ใช้พูด รวมทั้งต้องระมัดระวังถึงบุคลิกภาพ  เช่น  การแต่งกายให้เหมาะกับสถานที่และโอกาสที่พูดเป็นต้น
4.  การเตรียมการพูด  การพูดต่อผู้ฟังจำนวนมากผู้พูดมักจะเกิดความเครียดและความประหม่า  เช่น พูดไม่ออก  หรือพูดผิดๆถูกๆ  เป็นต้น  พฤติกรรมดังกล่าวเป็นลักษณะของการตื่นเวทีซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้พูดแทบทุกคนโดยเฉพาะนักพูดที่เริ่มขึ้นเวทีเป็นครั้งแรก  การเตรียมตัวและการฝึกฝนการพูดจะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้  โดยที่ผู้พูดต้องสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  รู้จักเสริมคุณธรรมในการพูด  คือ  มี่สติในขณะที่พูด  มีเจตนาที่สุจริต  และมีความจริงในการพูด  รวมทั้งมีการฝึกฝนการใช้ภาษาที่ถูกต้อง  ชัดเจน  เหมาะกับสถานการณ์ที่จะพูด  
                      4.1  การเตรียมการพูดให้เหมาะกับสถานการณ์  ในการพูดผู้พูดอาจประสบปัญหาต่างๆ มากมายในขณะที่พูด  เช่น เกิดอาการประหม่า  ผู้ฟังไม่สนใจหรือบรรยากาศในการพูดมีความเครียดหรือเงียบจนเกินไป เป็นต้นปัญหาดังกล่าวนี้ผู้พูดที่มีประสบการณ์อาจหาแนวทางแก้ไขได้ไม่ยากนักสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเป็นนักพูดควรมีการเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ  นอกเหนือจากการปรับการพูดให้เข้ากับโอกาสและสถานการณ์ในขณะที่กำลังพูดอยู่  เช่น  ถ้าจะพูดเรื่องที่เป็นความรู้เป็นวิชาการ  ต้องพูดให้ช้ากว่าปกติเล็กน้อย  การพูดโน้มน้าวใจ  ต้องพูดให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความเป็นกันเองของผู้พูด  หรือการพูดสดุดีต้องพูดให้เคร่งขรึมสง่างาม  เป็นต้น
2.  การพูดอย่างไม่เป็นทางการ
การพูดอย่างไม่เป็นทางการ  หมายถึง  การพูดที่ไม่มีพิธีรีตอง  เนื่องจากผู้พูดกับผู้ฟังมีความคุ้นเคยต่อกันจึงไม่พิถีพิถันกับรูปแบบของการพูดมากนัก  เช่น  การสนทนา  การทักทายปราศรัย  การปรึกษาหารือในระหว่างเพื่อนฝูง  เป็นต้น  อย่างไรก็ตามแม้การพูดอย่างไม่เป็นทางการจะไม่พิถีพิถันกับรูปแบบ  แต่การพูดในลักษณะดังกล่าวมีสิ่งที่ต้องคำนึงและควรปฏิบัติให้ถูกต้อง  ดังนี้
                1.  ผู้พูดต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการพูด เช่น  ต้องการแจ้งให้ทราบ   ต้องการ
ให้ความรู้  หรือต้องการให้แสดงความคิดเห็น
                2.  ต้องคำนึงถึงกิริยามารยาทในการสื่อสาร เช่น  กิริยามารยาทที่พึงแสดงต่อเพื่อน
ต่อครูบาอาจารย์  ต่อบิดามารดา  หรือต่อผู้อาวุโส  เป็นต้น 
3.  ภาษาที่ใช้พูดต้องมีความชัดเจนและมีความเหมาะสมกับผู้ฟัง  เช่น  พูดกับ
เพื่อน  พูดกับบิดามารดา  หรือพระภิกษุ  ควรใช้ภาษาพูดที่แตกต่างกัน
4.  ต้องรู้จักกาลเทศะในการพูด  เช่น  รู้ว่าเวลาใดควรไม่ควรพูดหรืออยู่ในสถานที่
เช่นไรควรพูดอย่างไร  เป็นต้น
แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการพูด
ความสำเร็จในการพูดจะเกิดขึ้นได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งนั้นคือผู้พูดจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของการพูดให้ชัดเจนจุดมุ่งหมายของการพูดแบ่งได้  2  ประการ  คือ
1.  จุดมุ่งหมายทั่วไป  (General  Purpose)
จุดมุ่งหมายทั่วไปของการพูดนั้น หมายรวมถึงพูดเพื่อให้ความรู้ชักจูงใจให้ทราบข้อเท็จจริง กระตุ้นหรือสร้างความประทับใจตักเตือนหรือให้โอวาท  หรือการพูดเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเป็นต้น อย่างไรก็ตามหากจัดประเภทของความมุ่งหมายทั่วไปของการพูดเป็นประเภทใหญ่ๆแล้วจะได้  5  ประเภท  ดังนี้
1.1  การพูดเพื่อให้ความรู้
1.2  การพูดเพื่อเกลี้ยกล่อมหรือจูงใจ
1.3  การพูดเพื่อกระตุ้นหรือสร้างประทับใจ
1.4  การพูดเพื่อเรียกร้องความสนใจ
1.5  การพูดเพื่อให้เกิดความบันเทิง
2.  จุดมุ่งหมายเฉพาะของการพูด  (Specific  Purpose)
โดยปกติการพูดที่ดีจะมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้พูดต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้ฟังในแต่ละเรื่องแต่ละประเภทที่พูด  ตัวอย่างเช่น  พูดจูงใจให้ซื้อสินค้า  หรือพูดเกลี้ยกล่อมคนร้ายให้ปล่อยตัวประกัน แม้จะเป็นการพูดเพื่อจูงใจหรอเกลี้ยกล่อมเหมือนกันแต่จุดมุ่งหมายของการพูดแต่ละครั้งแตกต่างกัน
แบ่งการวิธีการพูด
การพูดแบ่งตามวิธีการที่นำเสนอได้  4  วิธี  ดังนี้
1.  การพูดแบบกะทันหัน
2.  การพูดแบบท่องจำ
3.  การพูดแบบอ่านจากร่างหรือต้นฉบับ
4.  การพูดจากความเข้าใจหรือจดเฉพาะหัวข้อ
ประเภทของการพูดแบ่งออกได้หลายลักษณะ  ซึ่งแต่ละลักษณะก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็นของการพูดเป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตามการแบ่งประเภทของการพูดโดยทั่วไปมักแบ่งออกเป็น  4  ลักษณะ  คือ แบ่งตามลักษณะของการพูด  แบ่งตามโอกาสที่พูด  แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการพูด  และแบ่งตามวิธีการพูด  การได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ของการพูดในแต่ละประเภทจะช่วยให้ผู้พูดสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของการพูดได้อย่างเหมาะสม  รวมทั้งมีโอกาสได้เตรียมความพร้อมก่อนถึงเวลาพูดด้วย