คุณชอบเว็บนี้ระดับใด

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประเภทของการพูด

การเป็นนักพูดที่ดีนั้น  นอกจากจะคำนึงถึงความรู้พื้นฐานของการพูดแล้ว  ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับประเภทของการพูดประกอบด้วย  ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวจะช่วยให้ผู้พูดเข้าใจถึงลักษณะของการพูด  สามารถกำหนดจุดมุ่งหมาย  รวมทั้งสามารถเลือกใช้วิธีการพูดได้อย่างเหมาะสม  ประเภทของการพูด  แบ่งได้ 4 ลักษณะ  ดังนี้
1.   แบ่งตามลักษณะการพูด
2.   แบ่งตามโอกาสการพูด
3.   แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการพูด
4.   แบ่งตามวิธีการพูด
แบ่งตามลักษณะการพูด
การพูดแบ่งตามลักษณะได้  2  ลักษณะ  ดังนี้
1.  การพูดเดี่ยว
การพูดเดี่ยว  หมายถึง  การพูดที่มีผู้พูดเพียงคนเดียว  อาจพูดในห้องเรียน  ในที่ประชุมหรือในที่ชุมชนก็ได้  สำหรับเรื่องที่จะนำมาพูดอาจได้มาจากเหตุการณ์หรือประสบการณ์ของตนเองจากเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา  จากการอ่าน  จากการศึกษาค้นคว้าจากการซักถาม หรือจากสิ่งที่มีผู้เล่าให้ฟัง  เป็นต้น การพูดเดี่ยวที่นิยมกันอยู่ในสังคมปัจจุบันมีหลายประเภท  ซึ่งแต่ละประเภทก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป  เช่น  การพูดบรรยาย หรือปาฐกถา การกล่าวรายงาน  การกล่าวคำปราศรัย  การพูดให้โอวาท การพูดในฐานะโฆษก  หรือพิธีกร  หรือการพูดวิจารณ์  เป็นต้น
                                จุดมุ่งหมาย  การพูดเดี่ยวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังได้รับความรู้ความเพลิดเพลินหรือเพื่อเผยแพร่วิทยาการใหม่ๆที่ก้าวหน้า
2.  การพูดกลุ่ม
การพูดกลุ่ม  หมายถึง  การพูดที่มีผู้พูดหลายๆคนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่พูด  ในการพูดกลุ่มผู้พูดส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์และมีความเชียวชาญในการพูดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดร่วมกับผู้อื่นหรือการพูดเป็นทีม  ซึ่งต้องอาศัยหลักจิตวิทยาและมนุษย์สัมพันธ์เป็นส่วนประกอบการูดกลุ่มซึ่งเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน  ได้แก่  การสนทนา  การสัมภาษณ์  การอภิปรายการประชุมหรือการโต้วาที  เป็นต้น
จุดมุ่งหมาย  การพูดกลุ่มมีจุดมุ่งหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  ความคิดเห็นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา  หรืหาแนวทางปฏิบัติ
แบ่งตามโอกาสพูด
การพูดมีหลายโอกาส  แต่สามารถจัดโอกาสของการพูดได้ 2 ประเภท  ดังนี้
1.  การพูดอย่างเป็นทางการ
การพูดอย่างเป็นทางการ  หมายถึง  การพูดที่เป็นกิจจะลักษณะและเป็นพิธีการผู้พูดต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การพูด  เช่น  การปาฐกถา  การบรรยาย การอภิปราย  การสัมภาษณ์  หรือการประชุม  เป็นต้น  การพูดอย่างเป็นทางการอาจมีทั้งพูดเดี่ยวและพูดกลุ่ม  ซึ่งมีจำนวนผู้ฟังตั้งแต่กลุ่มย่อยๆไปจนถึงการพูดในที่ชุมชน  ดังนั้นการพูดในลักษณะนี้ผู้พูดจะต้องรู้จักหลักการในการพูด  เพื่อการแสดงออกที่เหมาะสม      
หลักการพูดอย่างเป็นทางการ
1.ขั้นวิเคราะห์   ผู้พูดต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้ฟัง  โอกาส  เวลาและสถานที่ก่อนการพุด วิเคราะห์ผู้ฟังเกี่ยวกับ  เพศ การศึกษา  อาชีพ  จำนวน  หรือสิ่งที่ผู้ฟังสนใจ  รวมทั้งต้องพิจารณาถึงโอกาสที่พูดว่าได้รับเชิญให้ไปพุดในโอกาสใด  ช่วงเวลาใด  หรือไปพูด  ณ  สถานที่ใด เป็นต้น
                2 .การเตรียมเนื้อหา  การพูดทุกครั้ง  ผู้พูดจำเป็นต้องคิดเตรียมเนื้อหา  เพื่อให้การพูด นั้นๆเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น               
3. การเตรียมด้านภาษา  การพูดต้องใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาประกอบกัน  ซึ่งมีแนวทางการใช้ดังนี้
3.1   การใช้วัจนภาษา  ผู้พูดควรต้องถ้อยคำที่สั้นและตรงตามความ  มีชีวิตชีวา
เหมาะกับผู้ฟัง  สาระและโอกาส  มีความสุภาพเป็นกันเองและเหมาะกับบุคลิกของผู้พูด
3.2   การใช้อวัจนภาษา  ผู้พูดควรต้องกวาดสายตามองผู้ฟังให้ทั่วถึงรู้จักใช้เสียงและแสดงสีหน้าให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่พูด  มีท่าทางประกอบการพูดพอเหมาะ  คำนึงถึงเวลาที่ใช้พูด รวมทั้งต้องระมัดระวังถึงบุคลิกภาพ  เช่น  การแต่งกายให้เหมาะกับสถานที่และโอกาสที่พูดเป็นต้น
4.  การเตรียมการพูด  การพูดต่อผู้ฟังจำนวนมากผู้พูดมักจะเกิดความเครียดและความประหม่า  เช่น พูดไม่ออก  หรือพูดผิดๆถูกๆ  เป็นต้น  พฤติกรรมดังกล่าวเป็นลักษณะของการตื่นเวทีซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้พูดแทบทุกคนโดยเฉพาะนักพูดที่เริ่มขึ้นเวทีเป็นครั้งแรก  การเตรียมตัวและการฝึกฝนการพูดจะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้  โดยที่ผู้พูดต้องสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  รู้จักเสริมคุณธรรมในการพูด  คือ  มี่สติในขณะที่พูด  มีเจตนาที่สุจริต  และมีความจริงในการพูด  รวมทั้งมีการฝึกฝนการใช้ภาษาที่ถูกต้อง  ชัดเจน  เหมาะกับสถานการณ์ที่จะพูด  
                      4.1  การเตรียมการพูดให้เหมาะกับสถานการณ์  ในการพูดผู้พูดอาจประสบปัญหาต่างๆ มากมายในขณะที่พูด  เช่น เกิดอาการประหม่า  ผู้ฟังไม่สนใจหรือบรรยากาศในการพูดมีความเครียดหรือเงียบจนเกินไป เป็นต้นปัญหาดังกล่าวนี้ผู้พูดที่มีประสบการณ์อาจหาแนวทางแก้ไขได้ไม่ยากนักสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเป็นนักพูดควรมีการเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ  นอกเหนือจากการปรับการพูดให้เข้ากับโอกาสและสถานการณ์ในขณะที่กำลังพูดอยู่  เช่น  ถ้าจะพูดเรื่องที่เป็นความรู้เป็นวิชาการ  ต้องพูดให้ช้ากว่าปกติเล็กน้อย  การพูดโน้มน้าวใจ  ต้องพูดให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความเป็นกันเองของผู้พูด  หรือการพูดสดุดีต้องพูดให้เคร่งขรึมสง่างาม  เป็นต้น
2.  การพูดอย่างไม่เป็นทางการ
การพูดอย่างไม่เป็นทางการ  หมายถึง  การพูดที่ไม่มีพิธีรีตอง  เนื่องจากผู้พูดกับผู้ฟังมีความคุ้นเคยต่อกันจึงไม่พิถีพิถันกับรูปแบบของการพูดมากนัก  เช่น  การสนทนา  การทักทายปราศรัย  การปรึกษาหารือในระหว่างเพื่อนฝูง  เป็นต้น  อย่างไรก็ตามแม้การพูดอย่างไม่เป็นทางการจะไม่พิถีพิถันกับรูปแบบ  แต่การพูดในลักษณะดังกล่าวมีสิ่งที่ต้องคำนึงและควรปฏิบัติให้ถูกต้อง  ดังนี้
                1.  ผู้พูดต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการพูด เช่น  ต้องการแจ้งให้ทราบ   ต้องการ
ให้ความรู้  หรือต้องการให้แสดงความคิดเห็น
                2.  ต้องคำนึงถึงกิริยามารยาทในการสื่อสาร เช่น  กิริยามารยาทที่พึงแสดงต่อเพื่อน
ต่อครูบาอาจารย์  ต่อบิดามารดา  หรือต่อผู้อาวุโส  เป็นต้น 
3.  ภาษาที่ใช้พูดต้องมีความชัดเจนและมีความเหมาะสมกับผู้ฟัง  เช่น  พูดกับ
เพื่อน  พูดกับบิดามารดา  หรือพระภิกษุ  ควรใช้ภาษาพูดที่แตกต่างกัน
4.  ต้องรู้จักกาลเทศะในการพูด  เช่น  รู้ว่าเวลาใดควรไม่ควรพูดหรืออยู่ในสถานที่
เช่นไรควรพูดอย่างไร  เป็นต้น
แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการพูด
ความสำเร็จในการพูดจะเกิดขึ้นได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งนั้นคือผู้พูดจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของการพูดให้ชัดเจนจุดมุ่งหมายของการพูดแบ่งได้  2  ประการ  คือ
1.  จุดมุ่งหมายทั่วไป  (General  Purpose)
จุดมุ่งหมายทั่วไปของการพูดนั้น หมายรวมถึงพูดเพื่อให้ความรู้ชักจูงใจให้ทราบข้อเท็จจริง กระตุ้นหรือสร้างความประทับใจตักเตือนหรือให้โอวาท  หรือการพูดเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเป็นต้น อย่างไรก็ตามหากจัดประเภทของความมุ่งหมายทั่วไปของการพูดเป็นประเภทใหญ่ๆแล้วจะได้  5  ประเภท  ดังนี้
1.1  การพูดเพื่อให้ความรู้
1.2  การพูดเพื่อเกลี้ยกล่อมหรือจูงใจ
1.3  การพูดเพื่อกระตุ้นหรือสร้างประทับใจ
1.4  การพูดเพื่อเรียกร้องความสนใจ
1.5  การพูดเพื่อให้เกิดความบันเทิง
2.  จุดมุ่งหมายเฉพาะของการพูด  (Specific  Purpose)
โดยปกติการพูดที่ดีจะมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้พูดต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้ฟังในแต่ละเรื่องแต่ละประเภทที่พูด  ตัวอย่างเช่น  พูดจูงใจให้ซื้อสินค้า  หรือพูดเกลี้ยกล่อมคนร้ายให้ปล่อยตัวประกัน แม้จะเป็นการพูดเพื่อจูงใจหรอเกลี้ยกล่อมเหมือนกันแต่จุดมุ่งหมายของการพูดแต่ละครั้งแตกต่างกัน
แบ่งการวิธีการพูด
การพูดแบ่งตามวิธีการที่นำเสนอได้  4  วิธี  ดังนี้
1.  การพูดแบบกะทันหัน
2.  การพูดแบบท่องจำ
3.  การพูดแบบอ่านจากร่างหรือต้นฉบับ
4.  การพูดจากความเข้าใจหรือจดเฉพาะหัวข้อ
ประเภทของการพูดแบ่งออกได้หลายลักษณะ  ซึ่งแต่ละลักษณะก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็นของการพูดเป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตามการแบ่งประเภทของการพูดโดยทั่วไปมักแบ่งออกเป็น  4  ลักษณะ  คือ แบ่งตามลักษณะของการพูด  แบ่งตามโอกาสที่พูด  แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการพูด  และแบ่งตามวิธีการพูด  การได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ของการพูดในแต่ละประเภทจะช่วยให้ผู้พูดสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของการพูดได้อย่างเหมาะสม  รวมทั้งมีโอกาสได้เตรียมความพร้อมก่อนถึงเวลาพูดด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น