คุณชอบเว็บนี้ระดับใด

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นิทานท้องถิ่น

คานสลา  (ขันหมาก)  นิทาน
(นิทานเรื่องนี้เล่าในกลุ่มวัฒนธรรมเขมร – ส่วย  ในจังหวัดสุรินทร์และใกล้เคียงเล่าเป็นภาษาเขมร)
                มีชาวนาครอบครัวหนึ่ง  มีลูกชายอยู่สองคนเท่านั้น  ลูกชายทั้งสองเป็นคนดีมาก  ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันและไม่เคยทะเลาะกับชาวบ้านเลยเป็นคนที่มีอัธยาศัยงดงาม  อดทน  เสียสละ  ไปไหนก็มักไปด้วยกัน  นอนด้วยกัน  พูดจาหยอกเย้ากันอย่างสนุกสนาน  เป็นเช่นนี้มาโดยตลอดตั้งแต่เด็กจนโต
                อยู่มาวันหนึ่งพ่อกับแม่ของพวกเขาได้ล้มป่วยลงพร้อมกันอย่างกะทันหัน  จะเยียวยาอย่างไรก็ไม่มีทางรอด  พ่อแม่รู้ตัวดีว่าจะต้องตายอย่างแน่นอนแล้ว  จึงสั่งเสียลูกชายทั้งสองว่า  “ต่อไปนี้พวกเจ้าไม่มีพ่อแม่คอยดูแลอีกแล้ว  พวกเจ้าจะต้องอยู่ในโลกใบนี้เพียงลำพัง  พ่อและแม่อยากให้พวกเจ้าจงรักใคร่กันดังที่เคยเป็นมา  รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  รู้จักให้อภัยกัน”
                เมื่อพ่อแม่ของเขาตายไปแล้ว  พวกเขาทั้งสองพี่น้อง  ก็รักใคร่นับถือกันดังที่เคยทำมา  ไม่มีอะไรบกพร่อง  จะคิดอะไร  จะทำอะไร  ก็ปรึกษาหารือกันอยู่เนืองนิตย์
                หลายปีผ่านไป  ฝ่ายพี่ชายก็ได้ไปชอบพอกับหญิงสาวนางหนึ่ง  และในที่สุดก็ได้เป็นผัวเมียกัน  เมื่อได้เป็นเมียแล้วพี่ชายก็ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับน้องชายดังเช่นแต่ก่อน  พี่ชายก็รู้ดีว่า  ตัวห่างเหินน้อง  จึงพยายามมาเอาใจน้องชายบ้าง  เมียบ้าง  เพื่อรักษาสภาพเดิมเอาไว้  เพื่อให้เป็นดังที่พ่อแม่สั่งไว้ก่อนตาย
                ส่วนน้องชายนั้นเข้าใจพี่ชายดีว่า  เมื่อมีเมียแล้วก็ต้องมีเวลาให้กับเมียมากๆ  ถึงจะห่างเหินตนบ้างก็ไม่ว่ากะไร  แต่สภาพที่เป็นอยู่นี้พี่ชายลำบากมากกว่าเก่า  เพราะต้องคอยห่วงตนเป็นพิเศษ  จึงคิดว่า  ถ้าตนหนีออกไปจากบ้านเสีย  พี่ชายก็จะมีเวลาให้เมียทั้งหมด  ดังนั้นเพื่อความสุขของพี่ชายและเมียของเขา  ตนควรหนีไปจากบ้านเสีย  เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงหลบหนีออกไปจากบ้าน  โดยเดินทางบ่ายหน้าไปทางทิศอีสาน  ออกเดินทางลัดเลาะผ่านทุ่งนาป่าไพรไปเรื่อยๆ  โดยตั้งใจว่าจะไปให้ไกลที่สุด  จนกระทั่งพลบค่ำ  ก็เห็นมีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งร่มเงาดี  จึงแวะเข้าไปหลับนอน
                ขณะที่กำลังจะเคลิ้มหลับไปนั้น  ก็ได้มีเนียะตา(เทพารักษ์)  ต้นไทรนั้นออกมาดุว่า  มานอนใต้ร่มไทรนี้  ไม่ขออนุญาตเจ้าของ  เป็นการบังอาจมาก  จะต้องถูกสาป
                แม้ชายหนุ่มจะกล่าวขอโทษว่าทำไปด้วยความไม่รู้  ขอให้ยกโทษให้ด้วย  แต่เนียะตาก็ไม่ยอมยกโทษให้  และสาปให้ชายหนุ่มกลายเป็นหินปูนก้อนหนึ่ง  อยู่ที่ใต้ร่มไทรนั้นเอง
                ฝ่ายพี่ชาย  กลับจากทำงานก็ไม่พบหน้าน้องชาย  จึงไปสืบถามจากชาวบ้าน  ก็ได้ความว่าเห็นน้องชายสะพายข้าวของเดินไปทางทิศอีสานตั้งแต่ตอนเช้า  พี่ชายมีความวิตกห่วงน้องมาก  คิดถึงคำที่พ่อแม่ฝากฝังก่อนตาย  ก็ตัดสินใจว่าหากตนจะต้องเลิกกับเมียก็ต้องยอม  จะต้องไปตามน้องชายให้ได้  จึงออกติดตามน้องไปในทิศอีสานนั้น  จนกระทั่งพลบค่ำก็ไปถึงที่ต้นไทรต้นเก่านั้น  ก็ได้แวะเข้าไปนอนดังเช่นน้องชายอีกเช่นกัน
                เนียะตาเจ้าของต้นไทรก็มาต่อว่าเหมือนเช่นแต่ก่อนและสาปแช่งให้เป็นต้นหมากขึ้นอยู่ที่ใกล้หินปูนนั้นอีกคนหนึ่ง
                กล่าวถึงเมียของชายผู้พี่  เมื่อผัวหายไป  ก็ไปสืบถามจากชาวบ้าน  ก็รู้เรื่องราวหมด  จึงคิดจะตามเพื่อไปช่วยปรับความเข้าใจให้พี่น้องเข้าใจกัน  ได้ออกเดินทางไปทางทิศอีสานดังกล่าวนั้นเช่นกันและเมื่อค่ำลง  ก็แวะไปนอนที่ใต้ต้นไทรนั้นอีกเช่นกัน  เนียะตาก็ออกมาสาปแช่งให้นางกลายเป็นต้นพลูขึ้นเกี่ยวพันต้นหมากนั้นอยู่
                กาลเวลาล่วงเลยมาอีกหลายปี  วันหนึ่งได้มีพระราชาพระองค์หนึ่ง  ได้เสด็จออกประพาสป่าและได้ทรงประทับที่พลับพลาใกล้ต้นไทรนั้น  ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นหมากและพลูนั้นสวยเขียวสดชื่นยิ่งนักคือ  ต้นหมากก็มีลูดกดี  ใบพลูก็เขียวสดมีราศีเปล่งปลั่งน่าประหลาดใจ  พระองค์จึงตรัสถามชาวบ้าน  ชาวบ้านก็เล่าความเป็นมารายงานให้ทรงทราบ  พระราชามีความชื่นชมในความรักของพี่น้อง  และสามีภรรยาครอบครัวนี้ยิ่งนัก  และทรงต้องการพิสูจน์ว่า  สิ่งทั้งสามนี้เกิดจากมนุษย์จริงหรือไม่  จึงรับสั่งให้เก็บผลหมาก  ใบพลู  ทาปูน  แล้วบดเคี้ยวเข้าด้วยกัน  น้ำหมากที่ออกมานั้นกลับมีสีแดงดังโลหิต  พระองค์ทรงเชื่อว่าเกิดจากมนุษย์จริง  จึงมีพระบรมราชโองการว่า  ถ้าผู้ใดจะแต่งงานก็จงเอาพืชอันเป็นมงคล  คือ  หมากพลูนี้ไปประกอบพิธี  เอาเยี่ยงอย่างผัวเมียคู่นี้  คือ  รักกันจริงร่วมเป็นร่วมตาย  และรักเพื่อสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์เอาไว้ในโลก
                นิทานเรื่องนี้  เป็นตำนานเกี่ยวกับเรื่องขันหมากในพิธีแต่งงาน  อันมีการทำพิธีที่ต้องใช้หมากพลูนี้  ในหมู่ชนเกือบทุกชาติ  เช่น  ในพม่า  มอญ  ลาว  เขมร  เวียดนาม  ไทย

มีเนิก  (แม่สื่อ – เขมร)  นิทาน
                นิทานเรื่อง  มีเนิก  (แม่สื่อ)  เป็นนิทานเล่ากันในกลุ่มชาวเขมร – ส่วยในจังหวัดสุรินทร์และใกล้เคียง  เป็นนิทานอธิบายพิธีกรรมในการแต่งงานของชาวเขมร
                กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ที่มหานครแห่งหนึ่งพระราชามีพระธิดาผู้เลอโฉมมาก  และพระราชาได้สร้างสระสรงอันสวยงามไว้สำหรับพระธิดาของพระองค์  สระสรงแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน  พระราชธิดาพร้อมทั้งพระพี่เลี้ยงและสาวสนม  กำนัลจะมาเล่นน้ำทุกๆ  วัน
                ยังมีเต่าใหญ่ตัวหนึ่ง  เล็ดลอดเข้ามาสู่สระสรงแห่งนี้  เมื่อมันเห็นสาวสนมกำนัลและพระธิดามาลงเล่นน้ำ  มันจึงอ้าปากส่งเสียงดังฟ่อๆ  ตามประสาเต่า
                พระราชธิดาและสาวๆ  ทั้งหลาย  ได้ยินเสียงนั้นก็ตกใจคิดว่าเป็นเสียงงูเห่า  จึงกรีดร้องวิ่งปีนป่ายขึ้นฝั่งอย่างชุลมุน  ส่วนเจ้าเต่านั้นก็ดำน้ำหนีลงซ่อนตัวอยู่
                พระธิดาได้เข้าเฝ้าพระราชา  กราบทูลว่า  มีอสรพิษอยู่ในสระสรง  พระราชาจึงให้เสนาทหารวิดน้ำออก  ควานหาตัวอสรพิษ  แต่ก็พบเต่าเพียงตัวเดียว  จึงนำตัวขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  พระราชาทรงกริ้วยิ่งนัก  มีพระราชบัญชาให้นำเต่าตัวนั้นไปทิ้งที่บริเวณสะดือทะเล
                เมื่อเต่าถูกโยนลงไปในกระแสน้ำวนนั้นมันก็ลอยคว้างตามเกลียวน้ำวน  ตกจมดิ่งลงไปสู่พิภพบาดาล  อันเป็นเมืองของพระยานาคราช
                เมื่อเจ้าเต่าได้ลงไปถึงเมืองบาดาลแล้ว  ก็ถูกทหารของพระยานาคราชจับตัวไปเข้าเฝ้า  เต่าได้บอกแก่พระยานาคราชว่าตนมาในนามทูต  จากเมืองมนุษย์มีพระธิดาโฉมงามอยู่  จึงมาบอกให้พระยานาคไปสู่ขอ
                พระราชาแห่งนาคทรงเชื่อ  จึงจัดขบวนแห่แหนไปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี  พากันมาสู่เมืองมนุษย์อย่างมากมาย  พระราชาแห่งเมืองมนุษย์ทรงงุนงง  เพราะมิได้ส่งทูตไปแต่ประการใด  แต่ด้วยกลัวจะเกิดสงคราม  จึงทรงรับพระราชไมตรีกับพระยานาค  จัดพิธีอภิเษกสมรสพระธิดามนุษย์กับพระโอรสนาคและต่อมาก็ได้สืบเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับนาค  เป็นคนพันธุ์ใหม่  คือคนเขมรนี้เอง
                พระราชาที่เป็นนาคและพระราชินีที่เป็นมนุษย์นั้น  เมื่อได้อภิเษกสมรสแล้ว  ได้เสวยราชย์ด้วยความสันติสุข  มีฤทธิ์แผ่อำนาจแผ่ไพศาล  ทรงมีพระเกษมสำราญต่อมา  จึงมีการจดจำและขอบคุณเต่าที่เป็นแม่สื่อให้พระองค์ได้อภิเษกสมรสกัน  โดยทรงบัญญัติไว้ในประเพณีเขมรว่า  เวลาส่งตัวเจ้าบ่าวมาแต่งงาน  ต้องนำเต่ามาด้วยตัวหนึ่งเสมอ  ให้ตั้งอ่างน้ำที่ใสสะอาดไว้ที่เชิงบันได  สำหรับต้อนรับเต่า  ก่อนขึ้นไปทำพิธีแต่งงานบนบ้าน  การทำดังนี้เชื่อว่าจะอยู่เย็นเป็นสุขมีอายุยืนนาน

ข้อสังเกต
                ชาวเขมรในประเทศกัมพูชามีนิทานคล้ายๆ  กัน  แต่ให้ฝ่ายชายเป็นมนุษย์ไปขอธิดาพระยานาค  มีบุตรหลานเกิดมาเป็นเผ่าชนเขมรสืบต่อมาจำนวนมาก  และยังมีเนื้อเรื่องต่อไปอีกว่าเจ้าชายกับธิดาพระยานาคมีอายุยืนยาว  มีลูกหลานสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน  ครั้งหนึ่งธิดาพระยานาคโกรธลูกสาวชาวเขมรที่ไม่ตั้งตนอยู่ในหลักธรรม  มักประพฤติตนผิดจารีตประเพณี  นางจึงสาปแช่งให้ชาวเขมร  (ลูกหลาน)  มีแต่ความเดือดร้อนตลอดไป  ก่อนนางจะสิ้นใจ

เกาะหนู-เกาะแมว
                ในสมัยอดีตกาล  ครั้งนั้นจังหวัดสงขลายังไม่มีเกาะและภูเขาเหมือนเช่นทุกวันนี้  เรื่องที่จะเกิดมีภูเขาและเกาะต่างๆ  ขึ้นนั้นก็เนื่องมาจากมี  เศรษฐีชาวจีน  ผู้หนึ่งได้แล่นเรือสำเภามาเมืองไทย  และได้จัดการซื้อสินค้าที่เมืองสงขลาไปขายที่เมืองจีน
                เศรษฐีผู้นี้มีแก้วสารพัดนึกซึ่งก็คือแก้ววิเศษ  แกจะหวงแหนเป็นอย่างมากไม่ยอมให้ใครแตะต้องเป็นเด็ดขาด  และได้เก็บไว้ในห้องที่ปิดลับอย่างมิดชิด  จะว่าไปแล้ว  คงไม่มีใครได้เข้าไปใกล้ชิดหรือแม้แต่เคยเห็นแก้ววิเศษนั้นเลย
                ครั้งหนึ่งเศรษฐีผู้นี้ได้แล่นเรือมาที่สงขลา  เพื่อบรรทุกข้าวไปขายที่เมืองจีน  คราวนี้เผอิญมีหนูตัวหนึ่งที่เฉลียวฉลาดมากติดเรือไปด้วยมันล่วงรู้ว่าเศรษฐีเจ้าของเรือมีแก้ววิเศษ  ก็เลยคิดอยากจะได้มาไว้ในครอบครอง
                หนูเจ้าปัญญาจึงวางแผนที่จะเอาแก้วสารพัดนึกมาเป็นของมันอยู่ตลอดเวลา  และแล้วมันก็พยายามจนสำเร็จ  ขโมยเอาแก้ววิเศษจากเศรษฐีนั้นมาได้ก็คาบลูกแก้ววิเศษว่ายน้ำกลับมายังสงขลา
                ฝ่ายเศรษฐีเมื่อรู้ว่าลูกแก้วถูกขโมยก็ตกใจมาก  สังเกตเห็นรอยผ้าที่หอลูกแก้วไว้มีรอยหนูกัดเป็นวงๆ  ก็รู้ทันทีว่าคงมีแต่หนูเท่านั้นที่มุดรอดเข้ามาในห้องและแทะทุกอย่างที่ขวางหน้าจนมันได้พบลูกแก้ววิเศษแล้วก็ขโมยไปได้
                ในเรือลำนี้เศรษฐีได้เลี้ยงสัตว์ไว้สามตัว  คือ  สุนัขสองตัว  กับ  แมวหนึ่งตัว  ทั้งสามตัวนี้เป็นสัตว์ที่แสนรู้และกตัญญูมาก  เมื่อมันเห็นเจ้านายของมันเศร้าโศกเสียใจก็รู้ทันทีว่าเศรษฐีเป็นอะไรจึงได้พากันออกกระโจนลงทะเลไปตามหาหนูจอมขโมย
                พวกสหายทั้งสามแหวกว่ายน้ำตามหาลูกแก็วมาคืนให้เศรษฐีเป็นเวลาหลายวันแล้วต่างจึงอ่อนเพลียไปตามๆกัน
                ฝ่ายเจ้าหนูก็พยามว่ายเข้าฝั่งที่เมืองสงขลา  แต่แล้วสุนัขและแมวก็ว่ายน้ำมาทันในระยะกระชั้นชิด  ครั้นใกล้ถึงปากอ่าวเมืองสงขลาหนูก็เห็นสุนัขและแมวว่ายตามมาถึงก็ตกใจกลัว  จึงปล่อยแก้ววิเศษที่คาบมานั้นตกลงทะเลไป
                พอหมดอำนาจของแก้ววิเศษหนูก็หมดแรงอ่อนล้า  ไม่สามารถว่ายเข้าหาฝั่งได้  ฝ่ายแมวก็หมดสิ้นเรี่ยวแรงเช่นกัน  ดังนั้นทั้งหนูและแมวต่างจมน้ำตายที่ปากอ่าวเมืองสงขลานั่นเอง  ส่วนสุนัขมีกำลังมากกว่าได้พยายามว่ายเข้าไปจนถึงฝั่ง  แต่ถึงกระนั้นก็พยายามเดินโซซัดโซเซไปได้เพียงไม่กี่ก้าวก็ล้มลงขาดใจตาย
                แก้วสารพัดนึกหรือแก้ววิเศษที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลตรงปากอ่าวก็สำแดงอิทธิฤทธิ์กลายป็นหาดทรายขึ้นมา  และด้วยอานุภาพของแก้ววิเศษก็ยังบันดาลให้หนู  และแมวที่จมบริเวณแหลมสมิหลา  นั้นกลายเป็นเกาะขึ้นมา  เรียกขานกันว่า  เกาะหนูและ  เกาะแมว  มาจนถึงทุกวันนี้
                ส่วนซากสุนัขสองตัวก็กลายเป็นภูเขาสองลูกเรียกกันต่อมาว่า  เขาน้อย  และ  เขาตังกวน  หาดทรายที่เกิดขึ้นเพราะอำนาจแก้ววิเศษก็เลยได้ชื่อว่า  หาดแก้ว  มาจนถึงบัดนี้

เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว
                เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวเกิดในตระกูล  ลิ้ม  มีชื่อว่า  กอเหนี่ยว  พำนักอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน  ประเทศจีน 
เป็นน้องสาวของ  ลิ้มเต้าเคียน  หรือลิ้มโต๊ะเคี่ยม
                เมื่อยังเป็นเด็กสองพี่น้องได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะแขนงต่างๆจนแตกฉาน ฝ่ายพี่ชายเมื่อโตขึ้นก็ได้เข้ารับราชการ สร้างผลงานปราบโจรสลัดสลัดญี่ปุ่นจนได้รับการแต่งตั้งเป็น  ขุนพลเซ็กกีกวงคุมกองทัพรือแต่ต่อมาได้ถูกใส่ร้ายว่าคบกับโจรสลัด  จนทางการออกประกาศจับจึงได้ตีฝ่าวงล้อมของทหารหลวง  หนีออกทะเลไปยังเกาะไต้หวัน
                ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเห็นว่าทัพหลวงยังคงติดตามโจมตี  ประกอบกับถูกโจรสลัดรังควาญอยู่ตลอดเวลา 
จึงเดินทางต่อไปที่เกาะซูลาน  ซึ่งเป็นประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน แล้วเข้าไปยังเวียดนาม  แต่บางตำนานเล่าว่า
ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเข้าไปอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา  และภายหลังจึงได้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี  ซึ่งที่ปัตตานีนี้  ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ภรรยาเป็นชาวปัตตานี และเข้ารีตเป็นมุสลิมตามภรรยา
                ฝ่ายลิ้มกอเหนี่ยว  ผู้เป็นน้องสาว  เมื่อเห็นว่าพี่ชายขาดการติดต่อไม่ได้ส่งข่าวคราวเป็นเวลานาน  จนมารดาซึ่งอยู่ในวัยชราล้มป่วยเป็นประจำ  ด้วยความกตัญญูอาสาออกเดินทางไปตามพี่ชายให้กลับมาเยี่ยมบ้าน                ในวันเดินทาง  ลิ้มกอเหนี่ยวได้เข้าไปล่ำลามารดา  และลั่นวาจาสัจไว้ว่า หากแม้นไม่สามารถพาพี่กลับมาหามารดาแล้วไซร้  ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
                ลิ้มกอเหนี่ยวกับญาตินำเรือออกทะเลเป็นเวลาหลายเดือน  กระทั่งเข้าเขตเมืองปัตตานี  ก็ทอดสมอไว้ริมฝั่ง  จากนั้นก็เดินเท้าเข้าไปสืบหาจากชาวบ้านในเมืองจนได้ความว่า  ลิ้มโต๊ะเคี่ยม  พี่ชายยังมีชีวิตอยู่  และได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่อยู่ที่นี้  จึงเข้าไปหาและชวนพี่ชายให้กลับไปยังบ้านเกิด  แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าหากกลับไปยังตอนนี้จะสร้างความลำบากให้แก่ตน  เนื่องจากยังติดประกาศจับของทางราชการ ขณะที่ความเป็นอยู่ทางนี้ก็มีความสมบูรณ์ดี จึงตัดสินใจกล่าวกับน้องสาวว่า
                ตนหาใช่เนรคุณทอดทิ้งมารดาและน้องสาวไม่ แต่เหตุที่ทางการจีนกล่าวโทษว่าคบกับโจรสลัด
สร้างความอัปยศจนต้องพลัดพรากมาอยู่ที่นี่  ตนอยู่ทางนี้ก็มีภารกิจมากมาย  อีกทั้งได้รับปากกับเจ้าเมืองว่าจะก่อสร้างมัสยิดให้  (มัสยิดกรือเซะ)  จึงไม่สามารถกลับไปในขณะนี้ได้
                ลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อได้ยินดังนั้น  ก็คิดว่าจะหาโอกาสอ้อนวอนพี่ชายให้กลับไปให้จนได้  จึงขอพำนักอยู่ในปัตตานีต่อ
                ในขณะนั้นเจ้าเมืองกำลังก่อสร้างมัสยิดเพื่อใช่ประกอบศาสนกิจดดยมอบให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นนายช่างออกแบบและคุมการก่อสร้างลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้อุทิศกาย และใจให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย  ยิ่งทำให้ลิ้มกอเหนี่ยวเกิดความโกรธเคือง  และน้อยใจกับพี่ชาย  พยายามอ้อนวอนให้เห็นแก่มารดาก็ไม่สำเร็จ  จึงได้สาบแช่งไว้ว่า  แม้พี่ชายจะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงใดก็ตาม  แต่ขอให้การก่อสร้างไม่สำเร็จลุล่วงได้  แล้วจึงลอบไปผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหินหิมพานต์ด้านข้างมัสยิดที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่
                ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเมื่อสูญเสียน้องสาวก็เสียใจมาก  จึงจัดการศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติ   พร้อมกับสร้างฮวงซุ้ยขึ้นที่  หมู่บ้านกรือเซะ แล้วทำการก่อสร้างมัสยิดต่อไปจนเสร็จอยู่ในขั้นก่อสร้างโดมหลังคาวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน  ฟ้าผ่าลงมายังโดมที่กำลังสร้างจนเสียหายหมดทั้งๆ  ที่ไม่มีวีแววพายุฝนแต่อย่างใด  ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทำการก่อสร้างโดมหลังคาใหม่ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก  เกิดมีฟ้าผ่าลงมายังยอดโดมอีกครั้ง ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมนึกถึงคำสาปแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นได้  จึงเกิดความท้อใจเลิกล้มการก่อสร้าง  เพราะคิดว่าคำสาปแช่งของน้องสาวมีความศักดิ์สิทธิ์
                เล่ากันว่า  ลิ้มกอเหนี่ยวได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ห้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวบ้านเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบนั้นสมอ  จนเป็นทีเลืองลือไปทั่ว  เป็นเหตุให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้นำกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาไว้สักการะและสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานรูปบูชา  พร้อมกับขนานนามว่า  ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
                ปรากฎว่าเมื่อตั้งศาลแล้ว  ก็มีผู้หลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย  ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วยเหลือ  บ้างก็กราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง  ประชาชนถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ  ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆ  และมีผู้นับถือมากมายจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

นางเลือดขาว
ตำนานนางเลือดขาว  เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันอย่างแพร่หลายทั้งในบ้านเราฝั่งไทยและทางประเทศมาเลเซียอย่างไรก็ดีตำนานนางเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง  วัดพระนางสร้างที่เล่าต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้แตกต่างกันเป็นสองสำนวน
โดยสำนวนแรกเล่าว่า  นางเลือดขาวเป็นธิดาเจ้าเมืองแห่งหนึ่งเกิดทำผิดจารีตประเพณีโทษถึงขั้นประหาร  แต่ได้ขอบิดาว่าก่อนตายนางขอสร้างวัดสองแห่ง  เพื่อเป็นกุศลติดตัวไปพบหน้า  พระบิดาก็ยินยอม
นางถุกจับใส่ลอยแพไปจนกระทั่งมาถึงเกาะภูเก็ตจึงได้สร้างวัดพระนางสร้างขึ้นพร้อมทั้งเอาทรัพย์สมบัติที่เหลือจากการสร้างวัดไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาน้อยใกล้วัดฉลอง  โดยมีปริศนาลายแทงว่า  เขาน้อยมีอ้อยช้างคลาน  มีทองสามพราน  อยู่ตีนเขาน้อย
หลังจากนั้นนางก็เดินทางไปสร้างวัดอีกแห่งที่อำเภอฉวาง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  อาจเป็นวัด  แม่นางเลือดขาวที่อยู่ใกล้กันกับวัดพ่อท่านคล้าย
ส่วนอีกสำนวนเล่าว่า  นางเลือดขาวผู้เป็นมเหสีของเจ้าผู้ครองนครแห่งหนึ่ง  ถูกเสนาบดีใส่ร้ายว่านางมีชู้กับมหาดเล็ก  เจ้าผู้ครองนครจึงสั่งให้ประหารชีวิตนางเสีย
แม้นางจะแสดงความบริสุทธิ์ต่อเจ้าผู้ครองนครอย่างไรก็ไม่เป็นผล  นางจึงขอผ่อนผันว่า  ก่อนตายขอให้นางได้เดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ลังกา  อันเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
นางจึงออกเดินทางไปด้วยเรือสำเภาระหว่างทางในทะเลได้ประสบภัยอันตรายต่างๆแทบเอาชีวิตไม่รอด  นางจึงตั้งจิตอธิษฐานว่าหากมีบุญวาสนาขอให้นางได้ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุอย่างที่ตั้งใจไว้  กลับมานางจะสร้างวัดก่อนที่ได้รับโทษทัณฑ์
ในที่สุดนางได้ไปลังกาสมปรารถนา  ขากลับนางได้นำศิลปวัตถุมาด้วย  และได้แวะขึ้นบนเกาะภูเก็ต  เห็นเป็นชุมชนมีผู้คนอาศัย  จึงได้สร้าง วัดพระนางสร้างขึ้น  พร้อมทั้งปลูกต้นประดู่และต้นตะเคียนไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อกลับถึงบ้านเมืองของตน  นางได้รับการสูญเสียพระสวามีในเหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติภายใน
พระนคร
                นางจึงคิดจะจากไปโดยตั้งพระทัยไว้ว่า  ชีวิตที่เหลืออยู่จะสร้างวัดให้มากเท่าที่จะทำได้  ทว่ายังไม่ทันหลบหนีนางก็ถูกเจ้าผู้ครองนครองค์ใหม่จับไปประหารชีวิตเสียก่อน  เลือกของนางที่ใหลออกมาเป็นสีขาว  จึงเป็นที่มาของชื่อ  พระนางเลือดขาว  และวัดที่นางสร้างไว้ก็ถูกเรียกขานตามชื่อนั้นไปด้วย         
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น