คุณชอบเว็บนี้ระดับใด

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วรรคทองของวรรณคดี

วรรคทองของวรรณคดี
หากจะกล่าวถึงวรรณคดี  และเทพนิยายสงเคราะห์ไว้ว่า  ความงามรวมความไพเราะด้วย  เป็นเรื่องของศิลปะและวรรณคดี  เกี่ยวกับความรู้ทาง  aesthetic  หรือสุนทรียศาสตร์  ความดีงามเป็นเรื่องของศาสนา  เกี่ยวกับหลักธรรมความรู้ทาง  ethics  หรือจริยศาสตร์  ความจริงเป็นเรื่องของปรัชญา  เกี่ยวกับความรู้ทาง  metaphysics  หรืออภิปรัชญา  อันว่าด้วยความจริงซึ่งเป็นที่สุดแห่งความจริง  นี่ท่านคงนึกว่าข้าพเจ้านำเอายาหม้อใหญ่มาให้กินท่านไม่ต้องวิตกว่าจะฟังไม่เข้าใจ  เพราะข้าพเจ้าก็ไม่พูดเรื่องเหล่านี้ยืดยาวเท่าไรนัก  เพราะข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้อะไร  ที่นำมากล่าวก็เพราะความงามความดีและความจริงมันพัลวันกันอยู่อย่างชอบกล  ความดีความจริงถ้าปราศจากความงามก็เหมือนดั่งร่างซึ่งขาดการตบแต่งเท่ากับมีแต่โครงร่างที่ปราศจากเนื้อหนัง  ความงามถ้าปราศจากความดีความจริง  ก็เหมือนสิ่งที่ปราศจากโครงร่างขึ้นลอยๆ  ไม่มีความหมายเหตุนี้จะเห็นได้มาแต่สมัยโบราณว่า  ศิลปะและวรรณคดีเป็นสิ่งรับใช้พระศาสนาและพระศาสนาก็ต้องอาศัยศิลปะและวรรณคดีเป็นสิ่งช่วยส่งเสริม  แยกเสียจากกันก็บกพร่อง  ท่านดูโบสถ์วิหาร  จะเห็นความงามของสถาปัตยกรรม  ท่านดูพระพุทธรูปจะเห็นความงามของประติมากรรม  ท่านดูตามผนังของโบสถ์วิหารจะเห็นความงามของจิตรกรรม  ท่านดูเครื่องประดับตกแต่งมีลายปูนปั้น  ลายทอง  ลายรดน้ำ  และอื่นๆ  จะเห็นความงามของมัณฑนศิลป์  เวลาพระฉันพระขึ้นธรรมาสน์  ลงธรรมาสน์  ลางคราวท่านจะได้ยินเสียงอันไพเราะของดุริยางคศิลป์  เพิ่มพูนศรัทธาปสาทะของท่าน  ลางคราวก็มีโขน  ละครไปแสดงสมโภชเป็นพุทธบูชา  ท่านจะเห็นความงามของนาฏศิลป์  เมื่อท่านฟังเทศน์มหาชาติ  ท่านได้ฟังความไพเราะของวรรณคดี  แล้วท่านก็จะเห็นความดีความจริงแห่งวัฒนธรรมเก่าของชาวไทยที่ท่านก่อนรู้ค่าอันแท้จริงของศิลปะและวรรณคดี  ด้วยการเพิ่มพูนความงามไพเราะให้แก้ศาสนา  เพื่อพยายามเร้าใจให้ลูกหลานผู้เป็นเชื้อชาวไทย  มีความรักใคร่สิ่งดีงามและความจริง  อันเป็นนิสัยฝ่ายข้างดีของมนุษย์ปุถุชน  เพราะฉะนั้นถ้าท่านรักและฝึกอบรมจิตใจด้วยศิลปะและวรรณคดีซึ่งเกี่ยวกับความรู้สึกทางสุนทรียภาพให้ยิ่งๆ  ขึ้นไป  ก็จะรู้ได้เองว่า  ความงามความดี  และความจริงนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทีเดียว

ถ้าหากสงสัยว่าวรรณคดีเกิดจากอะไร  ทำไมคนสมัยก่อนถึงแต่งวรรณคดีไว้มากมายนัก  วันนี้เรามีคำตอบให้ค่ะ
1.  เกิดจากความประสงค์จะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้อนุชนได้รู้เรื่องราวในอดีตของชาติของตน ตัวอย่างของวรรณคดีประเภทนี้ได้แก่ ศิลาจารึกและพงศาวดารฉบับต่างๆ เป็นต้น
                2.  เกิดจากความประสงค์จะอบรมสั่งสอนประชาชนในด้านความประพฤติ และการปฏิบัติตน เช่นการศึกษาหาความรู้ การคบเพื่อน และอื่นๆ ตัวอย่างของวรรณคดีประเภทนี้ได้แก่ สุภาษิตพระร่วง และวรรณคดีคำสอนเรื่องอื่นๆ
                3.  เกิดจากความประสงค์จะสอนศาสนาแก่ประชาชน มีแนวการสอนต่างๆ เช่น เล่าเรื่องนรกและสวรรค์ ในไตรภูมิพระร่วง เล่นนิทานชาดกทั้งนิบาตชาดก เช่น เรื่องพระเวสสันดร และนิทานปัญญาชาดก เช่นเรื่องสมุทรโฆษชาดก และเล่าถึงเรื่องพระพุทธประวัติ เช่นเรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ตลอดจนการเล่นถึงสถานที่สำคัญๆ เกี่ยวกับพระพุทธองค์ เช่น สถานที่ที่แทนการเสด็จปรินิพพาน คือพระแท่นดงรัง หรือสถานที่แทนพระพุทธองค์อีกแห่งหนึ่ง คือพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี มีวรรณคดีเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น นิราศพระบาท และนิราศวัดรวก เป็นต้น
                4.  เกิดจากความประสงค์จะชมการแสดงมหรสพต่างๆ เริ่มตั้งแต่ละคร โขน หนัง หุ่น และเสภา ตัวอย่างของวรรณคดีประเภทนี้คือ ละครเรื่องอิเหนา โขนเรื่องรามเกียรติ์ หนังเรื่องสมุทรโฆษ หุ่นเรื่องพระอภัยมณี  และเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น
                5.  เกิดจากความประสงค์จะสรรเสริญวีรกรรมของวีรกษัตริย์ ตัวอย่างของวรรณคดีประเภทนี้ได้แก่ ยวนพ่ายโคลงดั้น และลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น
                6.  เกิดจากความประสงค์จะสอนหนังสือไทย ทำให้เกิดตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเริ่มตั้งแต่ จินดามณี และตำราที่แต่งตามจินดามณีอีกหลายฉบับ และยังมีตำราเรียนต่างๆ  อีกหลายเล่ม
                7.  เกิดจากความรัก วรรณคดีประเภทนี้มีทั้งจดหมายรักและนิราศต่างๆ เช่นเพลงยาวเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เป็นต้น

เรามาดูว่าความเป็นมาของวรรณคดีนั้นเป็นอย่างไร?
ภูมิหลังของวรรณคดีไทย  ถ้าเราได้ศึกษาทางประวัติศาสตร์  ปรากฏว่าชาติไทยเป็นชาติที่เคยรุ่งเรืองมานาน  คนไทยมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน  (poetical  mind)  การใช้ถ้อยคำภาษามักมีการสัมผัสคล้องจองกัน  ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกหลักที่  ๑  ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า  ในน้ำมีปลา  ในนามีข้าว  ไพร่ฟ้าหน้าปก  เป็นต้น  ในวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตนั้นนับแต่เป็นเด็กนอนเปลก็มักจะได้ยินคำพูดคล้องจองกันอยู่เสมอ  เช่น  เพลงเต้นกำรำเคียว  เพลงเกี่ยวข้าว  เพลงสงฟาง  เป็นต้น  ในการดำรงชีวิตของชาวบ้านก็มีคติคำสอนที่บอกเล่ากันด้วยปากต่อปาก  เช่น  ขิงก็รา  ข่าก็แรง  อย่าไว้ใจทาง  อย่าวางใจคน  จะจนใจเอง  เป็นต้น  หรือในท้องถิ่นภาคอีสานก็มีคำผญาภาษิต  เช่น  เจ้านายดี  บ่เห็นแก่เงินสินไถ้  แต่เห็นแก่ไพร่แสนเมือง  บ่-ไม่-ไถ้-ถุง-ย่าม  หมายความว่า  ผู้ปกครองที่ดีย่อมไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  แต่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนพลเมืองหรือ  อย่าซื้อควายหน้านา  อย่าซื้อผ้ายามหนาว  หมายความว่าอย่าซื้อควายในฤดูกาลทำนาหรือซื้อผ้าห่มในฤดูหนาวเพราะต้องซื้อด้วยราคาแพงมาก   

อีกประการที่ควรรู้คือคุณค่าของวรรณคดี
                เบญจมาศ  พลอินทร์  และวารี  ศรีมาโนชน์    (๒๕๒๕  ๑๐-๑๒)  เขียนหนังสือเรื่อง  แง่คิดจากวรรณคดีและวรรณกรรม  ได้อธิบายคุณค่าของวรรณคดีไว้ว่า  การศึกษาวรรณคดีมักมีจุดประสงค์ต่างๆ  ต่างกัน  บางคนศึกษาวรรณคดีในแง่ความเพลิดเพลิน  บางคนก็ศึกษาในแง่ของตำรา  หรือศึกษาถึงความหมายในทรรศนะของผู้แต่ง  หรือปรัชญาที่แฝงอยู่  จะกำหนดแน่นอนไม่ได้ว่า  วรรณคดีมีคุณค่าอย่างไรบ้าง  ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ศึกษา  ที่จะรับและมองเห็นคุณค่าของวรรณคดีแต่ละเล่มเป็นสำคัญ  จึงกล่าวอย่างกว้างๆ  ได้ว่า
                มีคุณค่าในทางเพิ่มพูนความรู้และส่งเสริมสติปัญญาของผู้อ่าน  เช่น  ช่วยเพิ่มพูนความรู้ทางภาษาและฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์  กล่าวคือ  วรรณคดีไทยแต่เดิมมาแต่งด้วยคำประพันธ์ไทยอันได้แก่  โคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  แม้จะเป็นร้อยแก้ว  แต่ก็ได้ผูกประโยชน์ด้วยถ้อยคำที่สละสลวยน่าฟัง  ย่อมใช้คำสำนวนที่ได้กลั่นกรองอย่างดีแล้วอนึ่งการแต่งวรรณคดีเป็นบทร้อยกรอง  ก็เพื่อรักษาไว้เป็นลักษณะเฉพาะของไทย  การอ่านก็จดจำได้ง่าย  มีความไพเราะสัมผัสคล้องจองกันตามกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์  ในส่วนภาษาที่ใช้ก็ย่อมใช้ภาษาที่พูดกันในสมัยที่แต่งวรรณคดีเรื่องนั้นๆ  ผู้อ่านสามารถค้นคว้าที่มาและความหมายของคำศัพท์ต่างๆ  ตามสมัยนั้น  เพื่อเพิ่มพูนความรู้และสติปัญญา
                อีกประการหนึ่ง  วรรณคดีเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ในด้านประวัติศาสตร์  ตำนาน  โบราณคดี  สถานที่ทางภูมิศาสตร์  ชื่อบ้านเมือง  นิยาย  หรือนิทานพื้นเมือง  รวมทั้งประวัติบางตนของกวี  ทั้งนี้เนื่องจากวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยใด  กวีย่อมจะแทรกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองตลอดจนสภาพของบ้านเมืองในเวลานั้นลงไปด้วย
                นอกจากนั้นวรรณคดียังช่วยเพิ่มพูนความรู้ในด้านสังคมเกี่ยวกับความเชื่อและด้านศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณี  และวัฒนธรรมตลอดจนการปกครองและเศรษฐกิจของสมัยนั้นเพราะวรรณคดีย่อมมาจากสิ่งที่พบเห็นในสังคมแม้จะเป็นเรื่องสมมุติ  แต่กวีย่อมแทรกความเป็นจริงจากสังคมไว้เสมอ  วรรณคดีจึงเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพของสังคมในเวลานั้น  อาจทำให้เรามองเห็นสภาพต่างๆ  ของบุคคลในแต่ละยุคแต่ละสมัย  ทราบถึงความเจริญ  ความเสื่อมและความเปลี่ยนแปลงของสังคม  ทำให้เข้าใจสภาพสังคมและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสังคมดังที่กล่าวแล้วได้ดียิ่งขึ้น
                คุณค่าในทางอารมณ์  ถ้าจะพูดถึงคุณค่าทางอารมณ์นั้น  ถือเป็นความสามารถของผู้แต่ง  เป็นกลวิธีถ่ายทอดอารมณ์ให้ได้เหมาะสมด้วยการพรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกทางอารมณ์  บางครั้งอาจจะเป็นอารมณ์พอใจ  บางครั้งก็เกิดอารมณ์ไม่พึงพอใจ  การวางอารมณ์ให้เกิดขึ้นกับผู้อ่าน  ทำให้วรรณคดีนั้นๆ  มีชีวิตชีวา  เป็นความพอใจของผู้อ่าน  แต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและภูมิหลังของผู้อ่านว่าถ้อยคำของกวีไปกระทบกับอารมณ์หรือไม่  วรรณคดีเรื่องเดียวกัน  ผู้หนึ่งอ่านแล้วเกิดอารมณ์โศกเศร้าสลดใจ  แต่อีกผู้หนึ่งอ่านอาจจะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเศร้าสลดใจก็ได้
                ส่วนที่ว่าเป็นคุณค่าทางด้านจิตใจนั้น  หมายถึง  เนื้อหาในวรรณคดีแฝงความรู้  ความคิดทั้งในด้านศีลธรรม  จรรยา  ในด้านอุดมคติ  และทัศนคติเอาไว้  ให้ผู้อ่านได้คิดพิจารณา  อาจนำมาเป็นแนวทางและแบบอย่างในการครองชีวิต  รู้จักเลือกทางที่ถูกหรือรู้ว่าสิ่งใดเป็นผิด  มิควรเอาอย่าง  เป็นต้นว่า  คติสอนใจ  สุภาษิต  หลักธรรมทางศาสนา  หรือพฤติกรรมของตัวละคร  เหล่านี้จะมีประโยชน์แก่ผู้ที่รู้จักเก็บ  รู้จักนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองได้  นอกจากนั้น  วรรณคดีบางเรื่องช่วยปลุกใจให้ระลึกชาติ  นึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ  ที่ได้สร้างชาติและป้องกันบ้านเมืองของเราไว้  อนึ่งในมรดกทางศิลปะแขนงต่างๆ  เป็นต้นว่า  สถาปัตยกรรม  จิตรกรรม  ฯลฯ  เหล่านี้  ล้วนเป็นส่วนที่ยกระดับจิตใจของผู้อ่าน
                คุณค่าของจิตใจที่เห็นว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ  ความบันเทิงใจหรือเรียกว่าเป็นอาหารทางใจ  ทั้งนี้คนทั่วไปนิยมชมชอบในการอ่าน  การฟัง  นิทาน  หรือเรื่องราวที่แปลกที่น่ารู้  ผู้ที่อ่านหนังสือออกยังนิยมฟังจากที่ผู้อื่นเล่า  หรืออ่านให้ฟัง  การสอนอ่านในสมัยก่อนนั้น  ผู้ใหญ่จะให้เด็กอ่านวรรณคดีให้ฟัง  เพื่อจะสอบดูว่า  เด็กออกเสียงและสะกดตัวอักษรถูกต้องหรือไม่  เด็กขออ่านเพราะได้ความสนุกเพลิดเพลิน  ทั้งได้อ่านหนังสือเป็น  ทั้งได้รับความบันเทิงใจด้วย  ปัจจุบันยังมีผู้ที่ชอบฟัง  บทละคร  นิทาน  หรือเรื่องรัก  โศก  ฯลฯ  จากรายการวิทยุ  เพราะเป็นอาหารทางใจที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ให้เกิดความเพลิดเพลิน
                วรรณคดีมีคุณค่าต่อผู้อ่านทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ  คุณค่าทางตรงที่ผู้อ่านได้รับคือ  คุณค่าทางอารมณ์หรือสุนทรียศาสตร์  ผู้อ่านจะได้ประจักษ์รสความไพเราะและความสวยงามของภาษา  สำนวนโวหาร  ตลอดจนความงดงามของจิตภาพที่กวีสร้างขึ้น  ส่วนคุณค่าทางอ้อมนั้น  ผู้อ่านจะได้เกร็ดความรู้ต่างๆ  เกี่ยวกับวัฒนธรรม  ศิลปะ  สภาพสังคมที่ผู้เขียนสะท้อนให้เห็น  และรวมถึงคติธรรมที่สอดแทรกอยู่ในวรรณคดีด้วย
                คุณค่าของวรรณคดีมีดังนี้
                ๑ค่าทางอารมณ์  ผู้อ่านจะได้รับอารมณ์สะเทือนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
                ค่าทางปัญญา  ผู้อ่านจะได้รับความรู้ต่างๆ  กว้างขวางขึ้น
                ๓ค่าทางศีลธรรม  ผู้อ่านจะได้คติหรือแง่คิดต่างๆ
                ๔ค่าทางวัฒนธรรม  ผู้อ่านจะได้รับมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ
                ๕ค่าทางประวัติศาสตร์  ผู้อ่านจะทราบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสมัยต่างๆ
                ๖ค่าทางจินตนาการ  วรรณคดีจะกระตุ้นจินตนาการและความคิดฝัน
                ๗ค่าทางประสบการณ์  ผู้อ่านจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ  จากวรรณคดี
                ๘ค่าทางการรู้แจ้งเห็นจริง  ผู้อ่านจะเข้าใจเหตุผลดีขึ้น
                ๙ค่าทางทักษะเชิงวิจารณ์  ผู้อ่านจะมีวิจารณญาณดีขึ้น
                ๑๐ค่าทางภาษาและเนื้อหาของวรรณคดีนั้น
ตัวอย่างเช่น
...ชีวิตของคนเราสั้น  และมีเขตจำกัด  เราไม่ควรจะปล่อยให้เวลาของเราล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์เลย  คนเกียจคร้านไม่ผิดอะไรกับคนตายที่ยังลืมตาอยู่  หรือคนที่นอนอยู่ในหลุมฝังศพเท่าใดนัก  การดำรงชีวิตของคนเรามิได้มีความหมายแต่เพียงการมีลมหายใจ  การกินและนอนเท่านั้น  จำเป็นเช่นที่ได้กล่าวว่า  คนเราต้องทำงานด้วย  เพื่อตน  เพื่อครอบครัว  เพื่อประชาชาติและประเทศชาติ...
                                                                                                                                                         “พ.เนตรรังสี”

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น