คุณชอบเว็บนี้ระดับใด

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพูด

         ก่อนที่จะก้าวมาเป็น นักพูด  ผู้พูดส่วนใหญ่มักจะผ่านขั้นตอนของการฝึกฝนเพื่อพัฒนาตนเองในหลายรูปแบบ  การพูดเป็นการสื่อสารจากตัวผู้พูดไปยังผู้ฟัง เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของตน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น ก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันช่วยให้กิจการต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องมีการพูดจาตอบโต้ติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ เสมอ  การพูดจึงเป็นเครื่องมือของการติดต่อสื่อสารละเป็นบันไดขั้นแรกของการสมาคมและความสำเร็จในชีวิตและมีความสำคัญยิ่งต่อมนุษย์
การพูดมีผู้ให้หลักเกณฑ์สำหรับผู้ฝึกพูดไว้หลายแบบด้วยกัน ซึ่ง จิตรจำนงค์  สุภาพ
(2528:99)  กล่าวถึงสูตรสำเร็จหรือบันได 13  ขั้นสำหรับนักพูด ได้เรียงถ้อยคำไว้อย่างคล้องจองซึ่งจะนำผู้พูดไปสู่ความสำเร็จในการเป็นนักพูดที่ดีมีประสิทธิภาพไว้ดังนี้
                1.  เตรียมให้พร้อม  ก่อนถึงเวลาพูดผู้พูดจะต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆได้ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมเนื้อหาสาระ  การจัดระเบียบความคิด  การสร้างโครงเรื่องในการพูด  การวิเคราะห์ผู้ฟัง  หรือแม้แต่การเตรียมตัวของผู้พูดเอง
                2.  ซ้อมให้ดี  การพูดที่ดีผู้พูดจะต้องเตรียมการซักซ้อมเรื่องที่จะพูดให้เกิดความชำนาญ  มีลำดับขั้นตอนและเป็นธรรมชาติ 
3.  ท่าทีมีสง่า  การมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมจะช่วยให้ภาพของผู้พูดโดดเด่นและเป็นที่น่าเชื่อถือ
4.  กิริยาต้องสุขุม  การแสดงอากัปกิริยาที่สุขุมรอบคอบและการรู้จักควบคุมอารมณ์ขณะพูดจะทำให้มองว่าผู้พูดเป็นคนที่สำรวมและหนักแน่น
5.  ทักที่ประชุมอย่าวกวน  การทักทายผู้ฟังควรเริ่มให้ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน เหมาะกับรูปแบบและโอกาสที่พูด
6.  เริ่มต้นให้โน้มน้าว  ควรเริ่มต้นให้น่าสนใจและเร้าใจผู้ฟังให้อยากติดตาม
7.  เรื่องราวต้องกระชับ  การเสนอเนื้อหาให้กระชับ  ตรงประเด็น  และได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์
8.  ตาจับที่ผู้ฟัง  ขณะที่พูดกวาดสายตาของผู้พูดควรมองไปยังผู้ฟัง  ไม่ควรก้มหน้าแหงนมองเพดาน  หรือมองออกไปข้างนอก
9.  เสียงดังให้พอดี  ควรพูดให้ได้ยินชัดเจน  ไม่ดังหรือเบาจนเกินไป
10.  อย่ามีเอ้ออ้า  หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไร้ความหมาย เช่น  เอ้ออ้า  ฯลฯ
11.  ดูเวลาให้พอครบ  ควรพูดให้ตรงตามกำหนดเวลา
12.  สรุปจบให้จับใจ  จบการพูดให้เป็นที่ประทับใจผู้ฟัง
13.  ไวในปฏิภาณ  มีปฏิภาณในการแก้ปัญหาหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
การได้เรียนรู้สูตรสำเร็จดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  จะช่วยให้ผู้พูดเกิดความรู้ความเข้าใจและ
สามารถนำทักษะต่างๆมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพูดได้เป็นอย่างดีแต่ทั้งนี้ผู้พูดต้องไม่ลืมว่า การพูดให้ได้ผลดีนั้นไม่ใช่เรียนรู้แค่เพียงหลักการแล้วสามารถพูดได้เพราะการพูดที่ดีและได้ผลยังต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์ควบคู่กันไปอีกด้วย
หลักการใช้เสียง  ความชัดเจนถูกต้อง
เสียงพูดเป็นสิ่งสำคัญในการพูดเป็นอย่างยิ่ง  นักพูดบางคนที่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะไม่รู้จักใช้เสียงในการพูด  ทั้งๆ ที่มีความรู้ดีแต่พูดแล้วไม่ชวนให้ผู้ฟังสนใจ  เสียงพูดที่ดีอาจจูงใจผู้ฟังให้สนใจฟัง  และเห็นคล้อยตามได้ดีมาก  สิ่งที่ควรทราบในการใช้เสียงพูดมีดังนี้
1.  ลักษณะเสียง
     เสียงที่ดี  คือ  เสียงทุ้ม  นุ่มนวล  ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป
     เสียงสูง  ทำให้ผู้ฟังเคร่งเครียด  และเบื่อหน่ายได้ง่าย
     เสียงต่ำ  ทำให้ผู้ฟังง่วงเหงาเศร้าซึม  ไม่สนใจในการพูด
2.  จังหวะพูด
     การพูดต้องมีจังหวะชัดเจน  ชัดถ้อยชัดคำ  ไม่พูดเร็วหรือรัวเกินไป  และไม่ช้าเกินไปจนยานคาง  การพูดในที่สาธารณะต้องใช้จังหวะที่ช้ากว่าการสนทนากันเล็กน้อย  การพูดเร็วเกินไปผู้ฟังจะฟังไม่ทันแล้วเกิดการไม่สนใจขึ้น  ส่วนการพูดช้าผู้ฟังก็จะเบื่อและไม่สนใจเช่นเดียวกัน  ตามปกติอัตราการพูดที่เหมาะสม  คือ  การพูดในอัตรา 120 180 คำต่อนาที
3.  ลีลาการพูด
                   ผู้พูดที่ดีจะต้องรู้จักเปลี่ยนระดับหรือจังหวะของเสียง  ในจุดที่ต้องการเน้น  หรือการเรียกร้องความสนใจ  ซึ่งอาจทำได้โดยพูดให้ดังหรือเบากว่าปกติ  พูดให้ช้าลงหรือหยุด  หรือพูดซ้ำหรือย้ำ  การเปลี่ยนลีลาการพูด  มีข้อควรระวังดังนี้
     3.1  เน้นให้ตรงจุดที่ควรเน้น
     3.2  มีจังหวะในการเน้น  คือ  ไม่เน้นตลอดไป  เพราะการเน้นอยู่ตลอดเวลาจะไม่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่าตอนใดสำคัญกว่ากัน
4.  เสียงชัดเจน
     ผู้พูดจะต้องออกเสียงคำทุกคำให้ชัดเจนตามลักษณะของภาษาทั่วๆ ไป  เช่นตัวควบกล้ำ  หรืออกเสียงคำที่มีเสียง /ร/ และ /ล/ จะต้องชัดเจน  คำที่ออกเสียงประวิสรรชนีย์  บางคำออกเสียงเน้นหนักขนาดไหนต้องออกให้ถูก เช่น  สบาย  จะต้องออกเสียง /สะ/ เพียงครึ่งเสียง  ถ้าออกเสียงเต็มคำจะผิดลักษณะออกเสียงภาษาไทย
5.  ออกเสียงให้เต็มคำ
        การพูดที่ดีไม่ควรใช้คำย่อ หรือคำตัดพยางค์  เช่น  กิโลกรัม  ก็ไม่ควรใช้คำว่า โล  หรือวิทยาลัย เป็น วิทชาลัย เป็นต้น
   ข้อบกพร่องทั่วไปของการใช้น้ำเสียง
   1.  เสียงเบาเกินไป
   2.  พูดช้า หรือเร็วเกินไป
   3.  พูดอึกอัก เอ้ออ้า น่ารำคาญ
   4.  พูดด้วยท่วงทำนองเหมือนอ่านหนังสือ หรือท่องจำ
   5.  พูดราบเรียบระดับเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ
การเลือกเรื่องที่จะพูด
การเลือกเรื่องพูด  ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการพูด  เรื่องที่ดีควรมีประเด็นที่เด่นชัดและมีขอบข่ายของเนื้อหาที่เหมาะกับเวลาที่ใช้พูด  ผู้พูดที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่  มักจะเลือกเรื่องพูดโดยพิจารณาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
 นิพนธ์  ทิพย์ศรีนิมิต  (2542 : 110-111)  กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกเรื่องที่จะพูดไว้   ดังนี้
1.  กรณีที่เลือกเรื่องเอง  ควรเลือกเรื่องที่เราอยากพูด  รู้เรื่องดี  มีความถนัด  และมีประสบการณ์
2.  กรณีที่มีผู้กำหนดเรื่องมาให้  ควรศึกษาจุดประสงค์ในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน  เพื่อสำรวจว่าเรามีความรู้พอที่จะรับผิดชอบพูดเรื่องนั้นได้หรือไม่
3.  เลือกเรื่องให้เหมาะแก่โอกาส  เหมาะกับกาลเทศะและจุดมุ่งหมายของการพูด
4.  เลือกเรื่องที่มีความเหมาะสมกับผู้ฟัง  โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศ  วัย  การศึกษา  อาชีพ  และจำนวนของผู้ฟัง
5.  เลือกเรื่องที่ผู้ฟังสนใจ  หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง  หรือควรค่าแก่การฟัง
6.  เลือกเรื่องที่มีแนวทางและขอบข่ายที่เด่นชัด  เช่น  เป็นเรื่องที่พูดทั่วๆ ไป  หรือเป็นเรื่องที่ต้องพูดในแนวลึก
7.  เลือกเรื่องที่สามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูล  และจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ประกอบการพูดได้ไม่ยากนัก
8.  เลือกเรื่องที่เหมาะกับสถานการณ์และช่วงเวลาที่ใช้พูด
จากที่กล่าวมา  จะเห็นได้ว่าการเลือกเรื่องที่จะพูดนั้น  ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ในการเลือกอย่างมาก  และยังต้องคำนึงถึงคุณสมบัติทั้งผู้ฟังและผู้พูดเองด้วย  ซึ่งจะทำให้การเลือกเรื่องที่จะพูดนั้นประสบความสำเร็จเร็วขึ้น  อีกประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับการพูด  ก็คือ  การเตรียมการพูด
       นิพนธ์  ทิพย์ศรีนิมิต  (2544 : 109-136)  กล่าวว่า  การเตรียมการพูด  นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักพูด  การเตรียมการพูดที่ดี  นอกจากจะทำให้ผู้พูดเกิดความมั่นใจในตนเองแล้ว  ยังช่วยให้การพูดนั้นๆสามารถดำเนินไปตามแผนที่กำหนดไว้  ดังนั้นผู้พูดที่ดีจึงควรเตรียมการพูดในวิธีต่อไปนี้
การเตรียมเรื่องที่จะพูด
เมื่อสามารถเลือกเรื่องที่จะพูดแล้ว  ขั้นตอนต่อไปที่ผู้พูดจะต้องเตรียมการก็คือ การเตรียมเรื่องพูดหรือการเตรียมเนื้อเรื่อง  การเตรียมเรื่องพูดเป็นการกำหนดแผนในการพูดว่า  เราจะพูดอะไรพูดอย่างไร  เริ่มพูดเมื่อไหร่  พูดนานแค่ไหน  พูดกับใคร  และใช้รูปแบบการพูดแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด  ผู้พูดที่ดีควรเตรียมเรื่องพูดไว้ล่วงหน้า  เพราะจะช่วยให้พูดได้ตรงประเด็นและเป็นไปตามความมุ่งหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พูดที่ฝึกการพูดใหม่ๆควรคำนึงถึงเรื่องให้มากเป็นพิเศษการเตรียมเรื่องพูดมีลำดับขั้นตอนการเตรียมการดังนี้
  1.  ขั้นเริ่มคิด เมื่อตกลงว่าจะพูดเรื่องใดแล้ว  ก็ให้พิจารณาถึงสาระของเรื่องที่จะพูดว่าจะพูดในประเด็นใดบ้าง  ประเด็นต่างๆ เหล่านี้อาจรวบรวมจากประสบการณ์  จากการศึกษาค้นคว้า  หรืออาจสอบถามจากผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จะทำให้ได้หัวข้อเรื่องหรือประเด็นที่น่าสนใจมากขึ้น
   2.  ขั้นพิจารณาข้อมูล  นำประเด็นหรือหัวข้อเรื่องที่รวบรวมไว้มาพิจารณาถึงความเหมาะสม  เช่น  ประเด็นที่ไม่ค่อยตรงกันเนื้อหาก็ตัดออก  หรือเรื่องใดที่มีลักษณะที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันก็จัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน  หรือยุบรวมเป็นหัวข้อเดียวกัน
   3.  ขั้นเขียนโครงเรื่อง  เป็นการจัดลำดับเนื้อหาที่จะพูด  โดยนำประเด็นหรือหัวข้อเรื่องที่ได้เลือกไว้แล้ว  มาจัดเรียงลำดับการพูดก่อนหลังตามความเหมาะสมการวางโครงเรื่องที่จะพูดเป็นสิ่งจำเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้พูดจะต้องเตรียมการ  ทั้งนี้เพราะโครงเรื่องเปรียบเสมือนเส้นทางเดินหรือเส้นแกนร้อยของการพูดซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้พูดหลายประการดังนี้
        1.  ช่วยให้ผู้พูดได้มีโอกาสคิดและไตร่ตรองก่อนการพูด
        2.  ช่วยให้ผู้พูดทราบขอบข่ายและขั้นตอนของเรื่องที่จะพูด
        3.  ช่วยให้ผู้พูดพูดเนื้อหาได้ตามลำดับโดยไม่สับสน
        4.  ช่วยให้ผู้พูดพูดได้ตรงประเด็นและอยู่ในขอบข่ายของเรื่องที่พูด
                      5.  ช่วยให้ผู้พูดเลือกเน้นเนื้อหาบางตอนได้เหมาะแก่เวลา
การเตรียมขั้นตอนการพูด
            เมื่อผู้พูดเลือกเรื่อง  วางโครงเรื่อง  จัดหาข้อมูลและทำร่างบทพูดโดยคร่าวๆแล้ว  ขั้นตอนที่ผู้พูดต้องดำเนินการต่อไปก็คือ การเตรียมขั้นตอนการพูด  การเตรียมขั้นตอนการพูด  หรือการจัดหาเนื้อเรื่องเป็นการลำดับความให้เนื้อความต่อเนื่องกันอย่างมีระเบียบ  ซึ่งในทางการพูดจะมีการจัดเรียงขั้นตอน  ดังนี้

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากครับ ขอบคุณมากๆครับ

    ตอบลบ