คุณชอบเว็บนี้ระดับใด

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บุคลิกภาพของผู้พูดและการพูดในโอกาสต่างๆ

ผู้พูด  เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดไปยังผู้ฟัง  การเป็นผู้พูดที่ดี  นอกจากจะเรียนรู้ทฤษฎีและหลักการพูดแล้ว  ยังต้องเตรียมความพร้อมของตนเองก่อนการพูดด้วย   ซึ่งในการเตรียมตัวของผู้พูดนั้น (นิพนธ์  ทิพย์ศรีนิมิต.    2544  :  71-79)  ได้กล่าวข้อควรคำนึงถึงในเรื่องของการเตรียมตัวของผู้พูดไว้ดังต่อไปนี้
การใช้อิริยาบถและท่วงท่าที่เหมาะสมประกอบการพูด
อิริยาบถในการพูด  หมายถึง  พฤติกรรมของผู้พูดตั้งแต่ก้าวขึ้นเวที  การปรากฏตัวต่อหน้าผู้ฟัง  การเคลื่อนไหวร่างกาย  การแสดงออกทางสีหน้าแววตา  การใช้มือ  การยืนหรือนั่ง  และรวมถึงอากัปกิริยาอื่นๆ ที่ผู้พูดได้แสดงออก  เพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดความเข้าใจในเรื่องที่พูดยิ่งขึ้น
ความสำคัญของอิริยาบถ
                    1.  ช่วยให้การพูดเป็นธรรมชาติ
   2.  ช่วยเสริมคำพูดให้เด่นขึ้น
   3.  เป็นการดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง
   4.  ช่วยเสริมคำพูดให้เป็นจริงเป็นจัง
   5.  ช่วยสนับสนุนความนึกคิด
   6.  ช่วยผ่อนคลายความเครียด
                  7.  ช่วยสร้างบรรยากาศในการพูดให้เป็นกันเอง
   8.  เสริมสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับผู้ฟัง
   9.  ช่วยให้ผู้พูดปรับตัวเข้ากับบรรยากาศและสถานการณ์ที่พูด
   อิริยาบถที่ผู้พูดควรระวัง  ได้แก่
   1.  การแสดงออกทางสีหน้า
   2.  การใช้สายตา
   3.  การทรงตัว
   4.  การยืน
   5.  การนั่ง
                  6.  การเดิน
   7.  การใช้มือและแขน
   8.  การเคลื่อนไหวศีรษะและไหล่
   9.  การใช้เสียงและน้ำเสียง
   10.  การตื่นเวที
ท่วงท่าในการพูด  การใช้ท่าทางประกอบการพูด หมายถึงสีหน้า การวางท่า อากัปกิริยา และการใช้มือ ทั้งนี้ อาจแสดงด้วยมือเปล่า หรือมีอุปกรณ์ประกอบด้วยก็ได้
สีหน้า  ตามปกติผู้พูดที่มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ย่อมได้เปรียบเสมอ เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจของผู้ฟังตั้งแต่แรกเสมอ แต่ในบางครั้ง ผู้พูดต้องเปลี่ยนความรู้สึกให้เป็นไปตามสาระของการพูดด้วย บางครั้งต้องมีความจริงจัง บางครั้งมีความร่าเริงยินดี บางครั้งมีความโศกเศร้ารันทด หรือบางครั้งมีความไม่พึงพอใจ เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลักของความเป็นธรรมชาติ อย่าพยายามแสร้งตีสีหน้า จะทำให้ผู้ฟังรู้ได้ทันทีว่าผู้พูดไม่มีความจริงใจ และจะขาดความเชื่อถือในตัวผู้พูด
การวางท่า  ท่ายืนที่ดีที่สุดการยืนตรงตามสบาย ไม่ต้องเกร็ง ยืนให้เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าทั้งสองข้าง ปล่อยมือทั้งสอบข้างไว้ข้างลำตัว ไม่ควรยืนพักเท้าข้างใดข้างหนึ่งขณะพูด ไม่ควรเอามือไพล่หลัง หรือกุมไว้ข้างหน้า และไม่ควรเอามือยึดกับไมโครโฟน หรือท้าวแท่นพูดจนร่างโน้มลง ทำให้ขาดความสง่าผ่าเผย
อากัปกิริยา  การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นธรรมชาติเป็นสิ่งปกติของผู้พูดที่ดี ผู้พูดย่อมมีอิสระในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายไปตามอารมณ์ความรู้สึกโดยธรรมชาติได้ การเอียงคอ เอียงตัว การพยักหน้า การส่ายศีรษะ การก้มศีรษะ ยักไหล่ การเดิน ฯลฯ โดยเฉพาะการเดิน การเดินเมื่อจำเป็น ข้อสำคัญ อย่าพยายามหันหลังให้ผู้ฟัง เหล่านี้ล้วนเป็นอากัปกิริยาซึ่งผู้พูดกระทำได้ แม้ไม่มีความหมายใดๆ เพราะเป็นการช่วยให้การพูดดูเป็นธรรมชาติขึ้น อย่างไรก็ตามอากัปกิริยาบางอย่างควรละเว้น กล่าวคือ การล้วง แคะ แกะ เกา หาว โยก ค้อน กะพริบ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่ไม่น่าดู
การใช้มือ โดยปกติการปรากฏตัวต่อที่ชุมนุมชน ควรฝึกปล่อยมืออยู่ข้างลำตัว ผู้พูดที่ฉลาดมักสามารถใช้มือเป็นประโยชน์ต่อการพูดได้เป็นอย่างดี ผู้พูดอาจใช้มือประกอบในการขยายความ เช่น การบอกถึงทิศทาง จำนวน ขนาด รูปร่าง เป็นต้น บางครั้งผู้พูดอาจไม่ต้องการขยายความ แต่เพื่อเป็นการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือความหนักแน่นของคำพูด นอกจากนี้การใช้อุปกรณ์ประกอบการพูด เช่น แผนภูมิ รูปภาพ สิ่งของ ฯลฯ ควรมีขนาดใหญ่ หรือชัดเจนพอที่ทุกคนจะเห็นได้ทั่วถึง การชี้ หรือการยกให้ดูอย่าหักหลังให้ และอย่าให้สิ่งนั้นบังหน้าผู้พูด
ข้อควรระวังในการใช้ท่าทางประกอบการพูด พึงเข้าใจว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องทำท่าแบบเดียวกัน อย่าพยายามทำลายบุคลิกของตนเอง ด้วยการเลียนแบบท่าทางผู้อื่น ควรพูดด้วยความรู้สึกที่จริงใจ พยายามเป็นกันเองกับผู้ฟังและรักษาลีลาที่เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด
บุคลิกภาพในการพูด
ผู้พูดหรือนักพูด เป็นจักรกลสำคัญของการพูด และจะต้องยืนอยู่ต่อหน้าคนเป็นจำนวนมาก ความพร้อมทุกอย่าง รวมถึงบุคลิกภาพที่ดี และใช้เครื่องมือสื่อความหมายได้อย่างยอดเยี่ยม จะทำให้การพูดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้น นักพูดนักสอนธรรมะควรจะพัฒนาบุคลิกภาพ ผู้ที่จะเป็นผู้พูดที่ดีได้จะต้องมีบุคลิกภาพของการพูดดังนี้
 1.  มีความมั่นใจและชั้นเชิงดี คือพูดด้วยความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง และพูดได้เป็นธรรมชาติ
                2.  มีความกระฉับกระเฉงแจ่มใส คือพูดด้วยท่าทีผึ่งผาย มีชีวิตชีวา
 3.  มีความจริงใจและมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง โดยจะแสดงออกทางสีหน้า แววตา ท่าทาง และน้ำเสียง
 4.  มีความกระจ่างในเรื่องที่พูดและปฏิภาณไหวพริบดี สามารถพูดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้
                5.  มีความเป็นธรรม คือพูดโดยปราศจากความลำเอียง
 6.  มีความหนักแน่นและสำรวม
 7.  มีความเข้าอกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ให้เกียรติผู้ฟังทุกประเภทตามสมควร
 8.  มีความเด็ดเดี่ยวไม่โลเล
 9. มีเอกลักษณ์ในการสื่อสารเป็นของตนเอง
คุณลักษณะทั้ง 9 ประการข้างต้นนี้ เป็นบุคลิกภาพของการเป็นผู้พูดที่ดีซึ่งจะเกิดและพัฒนาขึ้นได้โดยการศึกษาหาความรู้ การตั้งใจหมั่นฝึกฝน มีความใส่ใจ และมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง
ปัญหาเกี่ยวกับการพูดและวิธีแก้ไข
การตื่นเวที  เป็นภาวะทางจิตที่ไม่ปกติ เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลอยู่ภายใน จึงไม่สามารถทำให้ควบคุมจิตใจ และอาการที่แสดงออก ทางร่างกายได้
ระดับของการตื่นเวที แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
1. Audience Tension  เป็นการพูดที่ตื่นเวทีที่เกิดจากความรู้สึกเครียดและตื่นกลัว เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นผลสะท้อนมาจาก ความตั้งใจของผู้พูด ที่มีต่อการพูด
2. Audience Fear   เป็นลักษณะของการตื่นกลัวซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการพูด เพราะในขณะที่พูดผู้พูดจะมีอารมณ์หวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา
3. Audience Panic  เป็นลักษณะการตื่นเวที ที่แสดงออกถึงความหวาดกลัวที่สุดขีดจนสุดจะระงับไว้ได้ เป็นการตื่นเวทีที่รุนแรงมาก จนผู้พูดไม่สามารถ ควบคุมอาการตื่นของตนเองได้ อาการตื่นเช่นนี้จะทำลายบุคลิกภาพของผู้พูดอย่างสิ้นเชิง
สาเหตุของการตื่นเวที มาจากหลายสาเหตุ เช่น
1.  ผู้พูดขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
2.  ผู้พูดมีทัศนคติต่อผู้ฟังที่ผิด
3.  ผู้พูดขาดประสบการณ์การในการพูด
วิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขอาการตื่นเวที มีดังนี้
1.  สร้างความเชื่อมั่นในตนเองโดยการฝึกฝน และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพูด
2.  เตรียมโน้ตสั้นๆ ไว้ช่วยเตือนความจำขณะพูด
3.  สร้างทัศนคติที่ไม่ตื่นกลัวผู้ฟัง
4.  สร้างประสบการณ์ทางการพูด
5.  มีความอดทนในการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ทางการพูด
การออกเสียง  บางคนออกเสียงค่อยไป  บางคนออกเสียงภาษาไทยกลาง (มาตรฐาน) ไม่ชัดเจน  สำเนียงจะออกมาเป็นภาษาถิ่นที่ตนเคยชิน  หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงบกพร่อง  เช่น  ฟันหัก  ลิ้นไก่สั่น  ปากแหว่ง  เป็นต้น  ออกเสียงภาษาไทยผิดเพี้ยนไป  เพราะความนิยมว่าเป็นสิ่งโก้เก๋  เช่น  ออกเสียงภาษาไทยเป็นสำเนียงฝรั่ง  เช่น  ยากส์  มันส์   ฟังแล้วเหมือนพูดใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องตามหลักภาษา  การใช้ถ้อยคำสำนวนให้ถูกต้อง
การพูดในโอกาสต่างๆ
การอยู่ร่วมกันในสังคม  โอกาสที่เราจะพบปะหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นย่อมมีอยู่เสมอๆ  และทุกครั้งที่มีการชุมนุมหรือมีการจัดงาน  มักจะมีรูปแบบการพูดที่เป็นทางการเกิดขึ้น  แต่เนื่องจากการชุมนุมในแต่ละโอกาสมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน  การพูดในแต่ละโอกาสจึงมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน  ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้รับเชิญให้พูด  จึงควรศึกษาหลักการและรูปแบบของการพูดในแต่ละโอกาสให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  ทั้งนี้เพื่อให้การพูดนั้น  ตรงตามวัตถุประสงค์และบรรลุผลตามเป้าหมายของการจัดงานนั้นๆ  การพูดในโอกาสต่างๆ  ให้ได้ผลผู้พูดควรทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดในเรื่องต่อไปนี้
1.  ความหมายและความสำคัญของการพูดในโอกาสต่างๆ
                 การพูดในโอกาสต่างๆ  หมายถึง  การพูดที่จัดตามวาระหรือโอกาสที่เกี่ยวข้องกับงานหรือ  กิจกรรมนั้นๆ  เป็นการพูดที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน  การพูดในลักษณะนี้จะมีจุดมุ่งหมายที่หลากหลาย  เช่น  การพูดเพื่อสร้างสรรค์  การพูดเพื่อเสนอข้อมูล  หรือ  การพูดเพื่อมารยาทอันดีงาม  ฯลฯ
2.  ความสำคัญของการพูดในโอกาสต่างๆ
                ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น  ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรหรือทำงานในตำแหน่งใดก็ตาม  โอกาสที่เราจะพูดคุยกับผู้อื่นหรือพูดคุยกับเพื่อร่วมงานนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา  แต่การพูดในบางโอกาส  เช่น  เมื่อมีการชุมนุมหรืองานพิธี  หากเราได้รับเชิญให้พูด  เราไม่อาจใช้วิธีพูดคุยเหมือนเช่นปกติ  ทั้งนี้เพราะการพูนั้นๆ  เป็นการพูดที่ต้องคำนึงถึงจุดมุงหมายและโอกาสของการพูดด้วย  ตัวอย่างเช่น  การกล่าวคำปราศรัย  การให้โอวาท  การกล่าวอวยพร  การกล่าวต้อนรับผู้มาเยือน  หรือการกล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่  ฯลฯ  การพูดในโอกาสต่างๆ  เหล่านี้ล้วนมีรูปแบบและวิธีการที่ผู้พูดควรศึกษา  ทั้งนี้เพื่อมิให้การพูดนั้นๆเกิดการผิดพลาด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความรู้  ความสามารถ  หรือผู้ที่สังคมยอมรับซึ่งมักจะได้รับเชิญ  ให้พูดในโอกาสต่างๆ  อยู่ประจำ
3.  หลักการพูดในโอกาสต่างๆ
                ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต  เราอาจมีโอกาสได้รับเชิญให้พูดในฐานะผู้มีเกียรติหรือเป็นผู้สำคัญของสังคม  จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พูดจะต้องศึกษาหลักการพูดในโอกาสต่างๆ  เอาไว้  ทังนี้เพื่อให้การพูดนั้นๆ  เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย  อีกทั้งยังเป็นการแสดงมารยาทและเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพในงานอีกด้วย  โดยทั่วๆ ไปแล้วผู้พูดควรศึกษาเกี่ยวกับการพูดในโอกาสต่างๆในเรื่องต่อไปนี้
3.1  หลักทั่วไปในการพูด
                     การพูดในโอกาสต่างๆ  แม้จะมีลักษณะของการพูดที่หลากหลาย  แต่โดยหลักการทั่วๆ  ไปแล้วการพูดในลักษณะนี้ก็มิได้แตกต่างไปจากการพูดในรูปแบบอื่นๆ  มากนักจะมีก็แต่เพียงลักษณะที่เกี่ยวกับโอกาสหรือสถานการณ์ที่จะต้องพูดเท่านั้น  ทินวัฒน์ มฤตพิทักษ์ (2525  :114-115)กล่าวถึงหลักทั่งไปของการพูดในโอกาสต่างๆ  ไว้ดังนี้
            3.1.1   พยายามคิดค้นหาลักษณะเฉพาะของโอกาส  หรืบุคลที่เรากล่าวถึง  ไม่ควรพูดเหมือนกันทุกงาน
                     3.1.2  ควรเริ่มให้น่าสนใจและลงท้ายให้ประทับใจ
                     3.1.3 ควรพูดให้รวบรัดและใช้เวลาไม่มากนัก
        3.1.4  ควรแทรกอารมณ์ขันบ้างตามความเหมาะสม
3.2  ลักษณะเฉพาะของการพูด
                      ประสงค์  รายณ์สุข (25282:159)  กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของการพูด  ในโอกาสต่างๆไว้ดังนี้
       1.  เป็นการพูดสั้นๆประมาณ3-5  นาที
       2.  มีสาระสำคัญเพียงประเด็นเดียว
       3.  สาระที่นำเสนอต้องเป็นเรื่องจริง
       4.  เป็นการพูดที่สนองความประสงค์ของผู้ฟัง
       5.  เป็นการพูดที่มีคุณค่า  น่าฟัง  และน่าประทับใจ
       6.  เป็นการพูดที่ชัดเจน  ไม่ซับซ้อน  เข้าใจง่ายและเห็นภาพพจน์
4.  ข้อความคำนึงเกี่ยวกับการพูด
                เมื่อได้รับเชิญให้พูดในโอกาสใดก็ตามที่ไม่ใช่เป็นงานประจำ  หรือปาฐถาธรรมดาทั่วๆไป  สิ่งที่ผู้พูดควรพิจารณาก่อนถึงเวลาพูด  ได้แก่
1.  จุดมุ่งหมายของการชุมนุม  ผู้พูดต้องวิเคราะห์ถึงความเป็นมาและจุดมุ่งหมายของการชุมนุมนั้นๆ ว่า  
                1.1  จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด
                   1.2  ผู้ฟังเป็นใคร  และชุมนุมในฐานะอะไร
                   1.3  สาระสำคัญของการชุมนุมคือเรื่องใด
               2. ลำดับรายการ  ผู้พูดทราบรายระเอียดต่างๆ  เกี่ยวกับขั้นตอนของการจัดงานนั้นๆว่า
                   2.1  มีรายการอะไรบ้างพูด  และจัดเรียงลำดับไว้อย่างไร
                   2.2  ผู้พูดจะพูดในฐานะ  และกล่าวในนามใคร
                   2.3   เวลาที่กำหนดให้พูดนานเท่าใด
                   2.4  ก่อนหรือหลังการพูดมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษอย่างใดหรือไม่
                3.  สถานการณ์  ผู้พูดควรวิเคราะห์สถานการณ์และของการชุมนุมว่ามีลักษณะเช่นไร  และผู้ฟังมีความรู้สึกอย่างไร  เช่น
                     3.1  ผู้ฟังกำลังให้ความสนใจอยู่กับเรื่องใดเรื่อง  หรือไม่
                      3.2 ผู้ฟังมาฟังด้วยความสมัครใจ  ถูกขอร้อง  หรือถูกบังคับให้มาฟัง
                      3.3  ผู้ฟ้งรู้จักผู้พูดมากน้อยเพียงใด
         การได้เรียนรู้หลักทั่วไป  ลักษณะเฉพาะ  และข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการพูดในโอกาสต่างๆ  จะช่วยให้ผู้พูดได้มีโอกาสเตรียมความพร้อม  หรือมีโอกาสวิเคราะห์สถานการณ์ของการพูดได้อย่างถูกต้อง  ถึงแม้ว่าการพูดในบางโอกาส  ผู้พูดอาจได้รับเชิญให้พูดโดยกะทันหัน  แต่การรู้ซึ่งถึงหลักการทั่วๆ  ไป  ก็น่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่การพูดได้ไม่น้อย  และดีกว่าการพูดโดยไม่มีหลักการ

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในการให้บริการออนไลน์สำหรับการช่วยเหลือเงินกู้ 200,000 ยูโรเพื่อเริ่มต้นครอบครัวของฉันภายใน 24 ชั่วโมงหากคุณสนใจที่จะกู้เงินด่วนในอัตราที่ต่ำติดต่อ Direct Access Online Services ใน: {trustlo @ g m a l l. c o m}...

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในการให้บริการออนไลน์สำหรับการช่วยเหลือเงินกู้ 200,000 ยูโรเพื่อเริ่มต้นครอบครัวของฉันภายใน 24 ชั่วโมงหากคุณสนใจที่จะกู้เงินด่วนในอัตราต่ำติดต่อ Trustloan Online Services ที่: {trustloan88 @ g m a l l. c o m}

    ตอบลบ