คุณชอบเว็บนี้ระดับใด

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ภาษาคืออะไร?


ภาษาคืออะไร
            คำว่า  “ภาษา”  เป็นคำที่ไทยรับเข้ามาจากภาษาสันสกฤต  ซึ่งตรงกับคำ  “ภาสา”  ในภาษาบาลี  มีความหมายในภาษาเดิมทั้งสองว่า  ถ้อยคำ  หรือคำพูด
            คำว่าภาษานี้เมื่อเข้าสู่ไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม  ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษา  กล่าวคือ  จากความหมายเดิมว่า  ถ้อยคำ  หรือคำพูดที่ขยายกว้างออกรวมถึงกิริยาอาการหรือท่าทางต่างๆ  ด้วย  ดังที่พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า  “เสียงหรือกิริยาอาการ  ซึ่งทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้,  คำพูด,  ถ้อยคำที่ใช้พูดจากัน...”
            ความหมายของคำ  “ภาษา”  ที่กว้างออกนี้  ปัจจุบันมิได้จำกัดเฉพาะแต่เสียง  พูดและกิริยาอาการเท่านั้น  แต่ยังใช้ในลักษณะต่างๆ  ได้ด้วย  ดังที่ประสิทธิ์  กาพย์กลอน1   ได้ยกตัวอย่างการใช้คำ  “ภาษา”  ในความหมายต่างกันไว้ดังนี้
            1.  สำเนียงบอกภาษา  กิริยาบอกตระกูล
            2.  ประสบการณ์มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ภาษา
            3.  ลุงสายทำนามีความสุขตามภาษาคนบ้านนอก
            4.  เด็กคนนี้เต็มทีจริง  โตเท่านี้แล้วยังไม่รู้จักภาษา
            5.  ภาษาไทยเป็นภาษาตระกูลคำโดด
            6.  ซักเสื้อภาษาบ้าบออะไรกัน  ที่แขนยังไม่สะอาด
            นอกจากนี้  ปัจจุบันยังปรากฏว่าได้มีบางบริษัทนำคำว่า  “ภาษา”  ไปใช้โฆษณาสินค้าของตน  เช่น  “พูดจาภาษาดอกไม้”  และ  “ไซโก้ภาษาของเวลา”  เป็นต้น 
            อย่างไรก็ตาม  ความหมายของภาษาตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น  มุ่งเน้นเฉพาะถึงสิ่งที่ใช้สื่อสารกันได้เป็นสำคัญ  นั่นคือ  อะไรก็ตามที่มนุษย์ใช้สื่อสารทำความเข้าใจกันได้  สิ่งนั้นก็เป็นภาษา  ความหมายของภาษาในแง่นี้จึงกว้างขวางมากเช่นเดียวกัน  ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงสื่อทุกชนิดที่สามารถติดต่อสื่อความหมายกันได้ระหว่างมนุษย์  เช่น  เสียงพูด  ตัวอักษรหรือเครื่องหมายแทนเสียงต่างๆ  ตลอดจนอากัปกิริยาท่าทางที่มนุษย์ใช้ถ่ายทอดความหมายและความรู้สึกนึกคิดซึ่งกันและกันด้วย  ดังนั้นถ้าจะแบ่งตามภาษาออกตามลักษณะที่คนทั่วไปเข้าใจกันแล้ว  ก็จะได้  ประเภทใหญ่ๆ  ด้วยกัน  คือ
ก.  ภาษาเสียง  (Verbal  Communication)  เป็นภาษาที่เกิดจากเสียงพูดซึ่งเป็นกระแสลมที่พุ่งผ่านขึ้นมาจากปอด  ผ่านเส้นเสียง  (Vocal  Cords)  ซึ่งอยู่ที่ลูกกระเดือกแล้วกระแสลมจะผ่านออกมาที่ช่องคอ  ช่องปาก  หรือช่องจมูกแล้วแต่กรณี  อวัยวะต่างๆ  ในปาก  เช่น  ลิ้นไก่  เพดานอ่อน  เพดานแข็ง  ปุ่มเหงือก  ฟัน  ริมฝีปาก  ฯลฯ  ก็จะทำหน้าที่กล่อมเกลาลมที่ผ่านมาทางเส้นเสียง  ให้เกิดเป็นเสียงสระและพยัญชนะประเภทต่างๆ  กัน  นอกจากนี้อาจจะดัดแปลงให้เสียงสูง ต่ำ ดัง ค่อย  หรือแผ่วเสียงกระซิบได้ด้วยเสียงที่ออกมาในลักษณะดังกล่าวนี้  ถ้าเราใช้สื่อความหมายได้  ก็จัดว่าเป็นภาษาเสียง
ข.  ภาษาลายลักษณ์  Symbolic  Communication)  เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารความหมายกัน  โดยใช้ตัวอักษรหรือตัวเขียน  รวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ  ที่เป็นเครื่องหมายสัมผัสได้ด้วยตาและมือ  รูปภาพ  แสง  สี  เครื่องหมายอาณ์ติสัญญาณต่างๆ  เช่น  เครื่องหมายจราจร  ล้วนเป็นภาษาตามนัยนี้ทั้งสิ้น
            อย่างไรก็ตาม  เมื่อเอ่ยถึงคำภาษาลายลักษณ์  โดยทั่วไปย่อมหมายเอาเฉพาะตัวอักษรเป็นสำคัญ  ซึ่งตัวอักษรที่กล่าวนี้  นักภาษาในปัจจุบันถือว่ามิใช่ภาษาที่แท้จริงของมนุษย์  เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย  ที่ใช้แทนเสียงพูดอีกชั้นหนึ่ง  และก็ไม่สามารถแทนได้ตรงทุกเสียงทุกคำ  โดยเฉพาะเสียงที่แสดงออกซึ่งอารมณ์ต่างๆ  มีหัวเราะเมื่อดีใจ  ร้องไห้เมื่อเสียใจ  เป็นต้น  เสียงเหล่านี้เราไม่สามารถใช้สัญลักษณ์แทนได้ตรงเลย  ถึงกระนั้นก็ตาม  คำบางคำที่เราใช้เขียนและอ่านกันอยู่ในชีวิตประจำวัน  เช่นคำว่า  จริง  สร้าง  ฯลฯ  มีอักษร  ร  ประสมอยู่ด้วย  แต่เราหาออกเสียงด้วยไม่    คงออกแต่เสียง  จ  และ  ส  แสดงว่าสัญลักษณ์ที่เราใช้ไม่ตรงกับเสียงที่ปรากฏ  หรือในตัวอย่างคำ  ค้า  ฆ่า  (ค่า)    และ  ขา  รูปวรรณยุกต์ที่ปรากฏจะต่างกับเสียงที่ออกทุกคำ  กล่าวคือ  รูปวรรณยุกต์จะเป็น  โท  เอก  สามัญ  แต่เสียงจะเป็น  ตรี  โท  และจัตวา  ตามลำดับ  อนึ่ง  ตัวอักษรที่กล่าวมานี้ก็หาได้มีใช้ในทุกภาษาไม่  โดยเฉพาะชาวป่าชาวเขาบางพวกจะไม่มีตัวอักษรใช้เลย  ลักษณะต่างๆ  ที่กล่าวมาทั้งหมด  พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า  ภาษาลายลักษณ์หรือตัวอักษร  ไม่ใช่ภาษาที่แท้จริงของมนุษย์  เป็นเพียงสัญลักษณ์แทนภาษาเสียงเท่านั้นเอง
            ค.  ภาษาท่าทาง  (Non-verbal  Communication)  เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อความหมาย  ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด  โดยใช้ท่าทางเป็นสื่อ  ซึ่งอาจจะแสดงออกทางสีหน้า  สายตา  ตลอดจนเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ  อย่างหนึ่งอย่างใด  หรืออย่างใดรวมกันก็ได้
            ภาษาท่าทางนี้ยังเป็นศาสตร์ใหม่ที่ไม่เป็นที่แพร่หลาย  และได้รับการศึกษาค้นคว้ากันเท่าใดนัก  ทั้งๆ  ที่เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้กันมากไม่น้อยกว่าภาษาเสียงและภาษาลายลักษณ์  สุมิตร  คุณากร กล่าวว่า  เนื่องจากความใหม่ของวิชานี้  แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง  ชื่อที่ใช้เรียกก็ยังไม่ลงรอยเดียวกัน  บ้างเรียกว่าภาษาเงียบ  (Silent  Language)  บ้างเรียกภาษาร่างกาย  (Body  Language)  อย่างไรก็ตาม  ภาษาท่าทางนี้มีความพิเศษในตัวเองอยู่มาก  มีความละเอียดอ่อน  เสแสร้งหรือจะปิดบังซ่อนเร้นได้ยากและยังเป็นภาษาที่เราอาจใช้อยู่ตลอดเวลา  ทั้งโดยจงใจด้วย  ดังนั้นจึงสมควรที่จะได้รับการเอาใจใส่ศึกษา  ค้นคว้า  ให้แพร่หลายกว้างขวางต่อไป
            กล่าวโดยสรุป  ความหมายของภาษาตามความเข้าใจของคนโดยทั่วไปก็คือเครื่องมือพิเศษอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ใช้สื่อสารกันโดยทางการพูด  การเขียนและการแสดงท่าทาง  ทั้ง  ทางนี้  นักภาษาในปัจจุบันถือว่า  ภาษาที่แสดงภาษาทางการพูดสำคัญที่สุด  สำคัญกว่าภาษาลายลักษณ์และภาษาท่าทางรวมกัน  ทั้งนี้เพราะว่าภาษาพูดหรือภาษาเสียงเป็นภาษาที่แท้จริงของมนุษย์  เกิดก่อนภาษาลายลักษณ์  ภาษาลายลักษณ์และภาษาเขียนนั้น  เป็นเพียงภาษาสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่ใช้แทนภาษาเสียงอีกชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง  ถ้าไม่มีเสียงพูดเกิดขึ้นก่อน  แต่ก็ใช้ในวงแคบกว่า  กล่าวคือภาษาเสียงอาจจะใช้สื่อความหมายกันถึงสิ่งใกล้หรือไกลตัว  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตหรือในอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้นก็ได้  แม้กระทั่งความมืดมองไม่เห็นมนุษย์ก็ยังไม่สามารถใช้ภาษาเสียงทำความเข้าใจกันได้เช่นเดียวกัน  แต่ภาษาท่าทางถ้าไม่อยู่ในระยะสายตาและปราศจากแสงสว่างเสียแล้ว  ก็จะไม่สามารถสื่อความหมายกันได้เลย  ด้วยเหตุนี้  ภาษาเสียงจึงสำคัญที่สุด  มนุษย์ใช้กันมากที่สุด  และใช้ได้ในวงกว้างที่สุดด้วย
                        อนึ่ง  ความหมายของภาษาไทยในแง่วิชาภาษาศาสตร์  (Linguistics)  ซึ่งเป็นความหมายตามหลักวิชา  ก็เน้นเสียงพูดที่มีความหมายเป็นสำคัญ  ดังที่  ดร.วิจินตน์  ภาณุพงศ์  ให้ความหมายไว้ว่า  “ภาษาคือเสียงพูดที่มีระเบียบและมีความหมาย  ซึ่งมนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อความคิด  ความรู้สึก  ความต้องการ  และใช้ในการประกอบกิจกรรมร่วมกัน”1  ด้วยเหตุนี้ในการศึกษาภาษาตามหลักวิชาหรือในแง่วิชาภาษาศาสตร์โดยทั่วไป  จึงเป็นการศึกษาเสียงพูดที่มีระบบและมีความหมายโดยเฉพาะ  กล่าวคือ  ศึกษาเสียงสำคัญในภาษาว่ามีอะไรบ้าง  มีวิธีเปล่งเสียงออกมาอย่างไร  การประกอบกันของเสียงเป็นหน่วยคำ  ตลอดจนศึกษาถึงวิธีการเรียบเรียงคำเข้าเป็นวลีและประโยคว่า  สัมพันธ์กันจนเกิดความหมายขึ้นได้เป็นอย่างไร  นั่นก็คือ  เป็นการศึกษาเรื่องพูดที่มีระบบ  และมีความหมายนั่นเอง

ลักษณะทั่วไปของภาษา
            ภาษาเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่มนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เป็นต้นมา  และเป็นสิ่งสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากในแทบทุกกิจกรรมของชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนตาย  ดังนั้นการศึกษาภาษาจึงอาจทำได้หลายแนว  สุดแล้วแต่ผู้ศึกษาจะเลือกแง่มุมใด  อย่างไรก็ตาม  ผลจากการศึกษาของนักภาษาศาสตร์  ทำให้เราได้ทราบลักษณะทั่วไปของภาษา  ซึ่งมีหลายประการดังนี้
            1.  ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารของมนุษย์  ในการติดต่อทำความเข้าใจกับคนรอบข้าง  มนุษย์ใช้ภาษาเป็นสื่อในติดต่อ  ในกรณีที่เป็นฝ่ายส่ง  ก็อาจกระทำโดยพูดหรือเขียน  ส่วนกรณีที่เป็นฝ่ายรับก็อาจกระทำโดยฟังหรืออ่าน  ไม่มีมนุษย์ปกติคนใดที่จะติดต่อคนอื่นโดยไม่ใช้ภาษา  ภาษาจึงเป็นเครื่องมือ  ที่ใช้สื่อสารของมนุษย์โดยแท้
            2.  ภาษาเป็นสิ่งประกอบด้วยเสียงและความหมาย  โดยปกติมนุษย์สามารถทำเสียงได้มากมายร้อยแปด  แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นภาษาทั้งหมด  เช่น  เสียงหัวเราะ  ร้องไห้  ผิวปาก  กระแอมกระไอ  ฯลฯ  เหล่านี้ไม่จัดเป็นภาษา  ทั้งนี้เพราะไม่มีความหมายกำหนดแน่นอนเป็นแนวเดียวกัน  บางคนอาจหัวเราะหรือร้องไห้เพราะความดีใจ  แต่ในบางครั้งและบางคน  ก็อาจหัวเราะหรือร้องไห้เพราะความเสียใจก็ได้  ด้วยเหตุนี้ความหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะบอกความเป็นภาษา  เสียงพูดใดก็ตามหากขาดความหมายเสียแล้ว  ก็หาเป็นภาษาไม่เพราะไม่สามารถใช้สื่อสารกันได้  ภาษาจึงต้องประกอบด้วยเสียง  และความหมายเสมอ
            3.  ภาษามีลักษณะที่เป็นระบบระเบียบ  ระบบระเบียบในภาษาก็คือลักษณะจำกัดเฉพาะของแต่ละภาษา  กล่าวคือ  ในแต่ละภาษาจะมีเสียงที่ใช้สื่อความหมายอยู่ในวงจำกัดมีจำนวนและลักษณะแตกต่างกันไปตามลักษณะภาษานั้นๆ  เสียงต่างๆ  เหล่านั้นจะถูกนำมาประกอบกันอย่างมีระเบียบกลายเป็นคำ  จากคำก็จะถูกนำไปเรียบเรียงเป็นประโยคอย่างมีระเบียบอีก  จนเกิดเป็นความหมายที่ใช้สื่อสารกันในสังคม  เช่นเสียง  ก + อิ + น  ประกอบกันเป็น  “กิน”  เมื่อนำไปเรียบเรียงเข้าประโยคว่า  “ฉันกินข้าวแล้ว”  คนที่รู้ภาษาไทยย่อมจะเข้าใจ  เพราะถูกตามระบบระเบียบภาษาไทย  แต่ถ้าเข้าประโยคเป็น  “แล้วกินฉันข้าว”  ดังนี้ก็ไม่เป็นภาษา  เพราะขาดระบบระเบียบของภาษาไทย  เป็นต้น
            4.  ภาษาเป็นเครื่องมือของสังคมที่กำหนดขึ้น  ภาษาเป็นเรื่องมิใช่เฉพาะของผู้ใดผู้หนึ่ง  แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมตกลงยอมรับใช้ตรงกันว่าถ้าออกเสียงอย่างนั้นจะมีความหมายของสิ่งนั้น  และถ้านำคำมาเรียงกันอย่างนี้  จะมีความหมายถึงสิ่งนี้  เช่น  ในภาษาไทย  ถ้าออกเสียงว่า  “แมว”  ก็จะหมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง  มีสี่ขา  ชอบจับหนู  ฯลฯ  และถ้าจะบอกลักษณะย่อยของแมวก็จะต้องนำคำมาวางไว้ข้างหลัง  เป็น  แมวขาว,  แมวดำ,  แมวทโมน,  แมวเหมียว  ฯลฯ  แต่ถ้าใครจะนำคำขยายมาวางไว้ข้างหน้า  เป็น  ขาวแมว,  ดำแมว,  ทโมนแมว  หรือเหมียวแมว  ดังนี้  ก็อาจจะฟังไม่เข้าใจเป็นอย่างอื่นและอาจจะเป็นที่ขบขันของผู้ฟังก็ได้  เพราะสังคมไม่ได้กำหนดให้ผู้พูดเช่นนั้น
            ในการกำหนดภาษาขึ้นใช้ในสังคมเป็นเรื่องไม่มีหลักเกณฑ์อะไรแน่นอน  และไม่มีใครสามารถอธิบายเหตุผลได้ว่า  ทำไมสัตว์ชนิดเดียวกันในหมู่คนไทยจึงเรียกว่า  “แมว”  แต่ฝรั่งเรียก  “Cat”  และทำไมเราจึงพูดว่า  แมวขาว,  แมวดำ  ฯลฯ  แทนที่จะพูดว่า  ขาวแมว  หรือ  ดำแมว  เหมือนภาษาฝรั่ง  เป็นต้น
            5.  ภาษามีพลังในการงอกงามมิรู้จบ  ถึงแม้ภาษาจะมีระบบระเบียบอยู่ในขอบเขตจำกัด  คือมีเสียงอยู่ชุดหนึ่ง  และมีโครงสร้างทางไวยากรณ์  ที่เป็นลักษณะจำกัดเฉพาะก็จริง  แต่ในการสร้างประโยคใหม่ๆ  เจ้าของภาษาอาจสร้างประโยคนี้ขึ้นใช้ได้มีจำนวนไม่รู้จบสิ้น  โดยวิธีนำคำที่มีใช้อยู่ในภาษามาเรียบเรียงเข้าเป็นประโยคในรูปต่างๆ  ทำนองเดียวกับการสร้างจำนวนเลขโดยวิธีนำเอาเลข  หรือ  มาเขียนรวมกันเป็นจำนวนเลขต่างๆ  นั่นเอง  ประโยคใหม่ๆ  ที่ถูกสร้างขึ้นนี้  แม้ผู้ใช้ภาษาคนอื่นๆ  จะไม่เคยได้ยินหรือได้ฟังมาก่อนก็ตาม  แต่ก็สามารถเข่าใจได้ทันที  โดยไม่ต้องมีใครสอน
            6.  ภาษาเกิดจากการเรียนรู้  ไม่มีมนุษย์คนใดรู้ภาษามาแต่กำเนิด  แต่เป็นการเรียนรู้เอาจากผู้อื่นหลังจากเกิดมาแล้ว  กล่าวคือ  เมื่อเราเกิดมาและเติบโตในหมู่ผู้ใช้ภาษาใดเราก็ย่อมจะพูดและฟังภาษานั้นเข้าใจได้  แต่จะให้รู้ภาษาอื่นที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน  ย่อมเป็นไปไม่ได้  แม้จะเป็นภาษาของบรรพบุรุษเราก็ตาม  ภาษาจึงเกิดจากการเรียนรู้  มิใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือเกิดจากสัญชาตญาณอย่างแน่นอน
            7.  ภาษามีลักษณะเป็นวัฒนธรรม  วัฒนธรรมย่อมมีการเจริญเติบโตอันได้แก่การเปลี่ยนแปลงเป็นปกติวิสัย  และมีการถ่ายทอดกันได้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  ภาษาก็เช่นเดียวกันย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและถ่ายทอดสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย  ซึ่งเราจะสังเกตเห็นโดยง่าย  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภาษา  จะพบว่า  เรามีคำเกิดใหม่มากมายในปัจจุบัน  บางคำก็ทำท่าจะติดและบางคำก็ทำท่าจะตาย  และหากเรามองย้อนไปในอดีตก็จะพบว่ามีคำเป็นจำนวนมาก  ซึ่งปัจจุบันไม่มีที่ใช่แล้ว  บางคำถึงจะมีใช้อยู่  แต่ก็ถูกดัดแปลงเสียงและความหมายไปแล้วมากต่อมาก  ลักษณะที่กล่าวมานี้  เป็นลักษณะของวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงและถ่ายทอดมาโดยลำดับนั่นเอง